“ณัฏฐพล” ร่วมประชุมกับผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด วางแผนจัดเก็บระบบข้อมูลของหน่วยงานในสังกัดอย่างเป็นระบบ ลดซ้ำซ้อนขั้นตอนเก็บข้อมูล บริหารฐานข้อมูลเป็นหนึ่งเดียว เป้าหมายนำข้อมูลมาใช้บริหารงาน และจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการบริหารจัดการฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการมีข้อมูลที่จำเป็นอยู่แล้วประมาณ 90% ซึ่งที่ผ่านมามีการบริหารจัดการข้อมูลแบบไซโล หรือเป็นแท่งๆ ขณะเดียวกันอาจไม่มีการสื่อสารระหว่างกันถึงความต้องการอย่างเข้มข้น การจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูล จึงไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของหน่วยงานอื่นๆ
“ผมมองว่าเรื่องของข้อมูลเป็นกระดุมเม็ดแรกของการจัดสรรงบประมาณ ที่ผ่านมาบางทีเราอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ เพราะความไม่มั่นใจในข้อมูลของกระทรวง แต่ขณะนี้ได้นำ 7 หน่วยงานที่มีข้อมูลของกระทรวงมารวมกัน และมอบหมายให้ทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการประมวลความจำเป็นและความต้องการของข้อมูล เพื่อการบริหารจัดการ มาลงรายละเอียดในการปฏิบัติงาน เพื่อให้บอกความต้องการที่ชัดเจนว่าเราอยากเห็นข้อมูลอะไร ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลครู นักเรียน หรือบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งหากมีการเพิ่มเติมความต้องการเข้ามา เชื่อว่าจะมีข้อมูลได้ครบถ้วน และจะทำให้มีการขับเคลื่อนดีขึ้น”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนเคยกล่าวไว้ตั้งแต่เมื่อเข้ามารับหน้าที่ว่า กระทรวงศึกษาธิการมีข้อมูลครบ แต่ขาดการเชื่อมต่อเป็นแดชบอร์ดเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ ทั้งนี้ อาจมีการเพิ่มเติมข้อมูลที่จำเป็นอีกส่วนหนึ่งสำหรับฝ่ายบริหารที่ต้องการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับการบริหารจัดการแนวทางใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ
“เราอยากมีฐานข้อมูลของครูกับนักเรียนที่เป็นส่วนสำคัญก่อน มีสมุดพกของนักเรียน สมุดพกหมายถึงความคืบหน้าในแต่ละชั้นเรียนที่ต้องติดตัว ติดตามตัวเองไปตลอด ถามว่าวันนี้เด็กที่เรียนโรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพฯ อาจจะมาจากต่างจังหวัด จริงๆ แล้วเราต้องให้เห็นว่าตั้งแต่ ป.1 เขามีทักษะ มีพรสรรค์อะไร หรือมีความชอบอะไร ณ วันนี้เมื่อมาอยู่ในระดับมัธยมฯ แล้ว เราตอบโจทย์ในเรื่องพรสรรค์ของเขาหรือความต้องการของเขาหรือไม่ หรือเขาโดนบังคับด้วยค่านิยมที่ทำให้ต้องมาเรียนทางใดทางหนึ่ง อันนี้ผมยกตัวอย่าง”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
สำหรับข้อมูลของคุณครู นายณัฎฐพลกล่าวว่า ในอนาคต ทุกๆ ความก้าวหน้าของคุณครู หรือเรื่องของการพัฒนาตนเองก็สามารถอยู่ในสมุดพกของครูได้ โดยไม่ต้องทำวิทยฐานะเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้การทำงานหลายอย่างง่ายขึ้น
อีกส่วนหนึ่งคือการลดการบันทึกข้อมูลเข้าระบบ ซึ่งจากที่สัมผัสด้วยตนเอง วันนี้คุณครูที่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำๆ กันหลายครั้ง บางครั้งเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้ว แต่เมื่อหน่วยงานอื่นนอกกระทรวงศึกษาธิการต้องการ หรือร้องขอมา แต่อาจจะเป็นรูปแบบที่แปลกแตกต่างจากของกระทรวงศึกษาธิการก็เลยต้องทำกันใหม่
“วันนี้ผมว่าคงไม่ได้แล้ว ถ้าเกิดไม่รับในแบบฟอร์ม หรือในแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะให้ข้อมูล ยกตัวอย่าง ความสูง น้ำหนักของนักเรียน ถ้าหากว่าเราวัดกันปีละ 3 ครั้งก็น่าจะเพียงพอ ไม่ใช่ว่าเวลาหน่วยงานไหนมาทำกิจกรรมกับโรงเรียนในกระทรวง ก็ต้องกรอกข้อมูลนี้ใหม่ ทำให้มีความซับซ้อนและเสียเวลา” นายณัฏฐพลกล่าว และว่า การบริหารฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการที่ดีนี้ น่าจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่คล่องตัวมากขึ้น และผลสะท้อนที่สำคัญคือจะช่วยในการบริหารจัดการงบประมาณในอนาคต
ทั้งนี้ หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการที่มีการเก็บข้อมูลของครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) และคุรุสภา เป็นต้น
นายณัฏฐพล ย้ำว่า ในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมอีกครั้ง เพื่อสรุปความคืบหน้า ภายหลังจากได้มอบหมายให้คณะทำงานได้หารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบความต้องการ และความครบถ้วนของข้อมูลที่จำเป็น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก สยามรัฐ วันที่ 25 มกราคม 2564