เมื่อวันที่ 21 ม.ค. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้แก่คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ชุดใหม่ ว่า ตนได้ชี้แจงให้คณะกรรมการ กอศ.รับทราบนโยบายการขับเคลื่อนงานอาชีวศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งตนตั้งใจที่จะผลักดันงานอาชีวศึกษาให้มีความเข้มข้นและคณะกรรมการกอศ.ได้รับทราบถึงแนวทางการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา (Excellent Center) และศูนย์พัฒนาศักยภาพรายบุคคลต้นแบบเพิ่มศักยภาพแรงงานสู่ความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) แผนพัฒนาครู และการผลักดันเรื่องอาชีวเกษตร ซึ่งคณะกรรมการ กอศ.ได้มีข้อเสนอแนะอย่างหลากหลาย เช่น แนวทางการทำการเกษตรแม่นยำ และความร่วมมือกับสถานประกอบการในโครงการ 1 วิทยาลัย 1 เอกชน เป็นต้น
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า สำหรับการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาที่ล้าสมัยนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันที่อยากจะปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาให้มีความยืดหยุ่นและทันสมัยกับโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งได้มอบหมายให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ.ไปดำเนินการแล้ว รวมถึงการเทียบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพให้แก่ผู้เรียนอาชีวศึกษา ซึ่งเมื่อเรียนจบการศึกษาแล้วจะได้ใบผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ของกรมส่งเสริมพัฒนา ฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานทันทีโดยที่ไม่ต้องไปฝึกอบรมเพิ่มเติมอีก เพราะมองว่าเด็กอาชีวศึกษาได้เรียนตามหลักสูตรมีประสบการณ์ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติมาตลอด 3 ปีของการเรียนในสถาบันแล้ว จึงถือว่ามีทักษะที่มากพอ โดยไม่จำเป็นต้องไปอบรมใหม่ให้มีความซ้ำซ้อนไปอีก นอกจากนี้จะมีการสร้างธนาคารหน่วยกิตเพื่อให้เด็กนำหน่วยกิตที่สะสมไปศึกษาต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคตของตัวเองได้ ซึ่งการทำธนาคารหน่วยกิตจะมีความสะดวกต่อนักศึกษาในการประกอบอาชีพและศึกษาต่อมากที่สุด.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 22 ม.ค. 2564