18ม.ค.64 - ที่หอประชุมคุรุสภา - นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้กล่าวในการประชุมมอบนโยบายแผนบูรณาการศึกษาจังหวัดทั่วประเทศให้แก่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ตอนหนึ่งว่า ตนดำรงตำแหน่ง รมว.ศธ.จนถึงวันนี้ครบ 18 เดือนแล้ว ทำให้ได้เห็นวงจรการศึกษาที่เกิดใน ศธ.อย่างครบถ้วน ซึ่งตนไม่สนใจว่าอดีตที่ผ่านจะมีการบริหารจัดการอย่างไร แต่ตนให้ความสนใจในการเตรียมเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้นตนจึงต้องการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาครั้งใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งเราจะต้องบริหารจัดการงบประมาณด้านการศึกษาอย่างเหมาะสมและตรงจุด เพราะที่ผ่านมาตนนั่งศึกษางบประมาณย้อนหลัง 5 ปีพบว่า ศธ.เป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด แต่งบประมาณที่ใช้กลับไม่ตรงจุด รวมถึงงบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปทุ่มให้กับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีเด็กกว่า 3,000 คน ดังนั้น ตนจะตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น โรงเรียนขนาดใหญ่หลายแห่ง เสนอของบสร้างอาคารเรียนมาทุกปี ซึ่งตั้งแต่ปีนี้ ตนจะไม่ให้แล้ว เพราะเราจะจัดสรรงบไปพัฒนาโรงเรียนอื่นๆตามแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด ซึ่งจุดนี้จึงเป็นการตั้งคำถามของตนว่าเราจะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไร หากยังมีการบริหารจัดการแผนการศึกษาในรูปแบบเดิมอยู่
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อย้อนดูยังพบปัจจัยหลักที่เกิดปัญหาการศึกษาไทย คือ สถานศึกษา หลักสูตร ผู้บริหาร นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการเชื่อมต่องานระหว่างหน่วยงานในองค์กรหลัก ศธ.ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ซึ่งตนคงไม่สามารถปล่อยปัญหาเหล่านี้โดยไม่ได้รับการแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นจึงมีแนวทางที่จะขับเคลื่อนแผนการศึกษาจังหวัด เพราะหากทำได้จะเป็นการเพิ่มรายได้แก่จังหวัดที่ตามมาด้วย การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุนภาพ คุนภาพทุนมนุษย์ตอบโจทย์ตลาด ประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ ประสิทธิภาพการสอนของครู และประสิทธิภาพการบริหารองค์กรผู้บริหาร สำหรับแผนบูรณาการศึกษาตนได้ลงพื้นที่สำรวจและพัฒนาโดยการใช้พื้นที่จ.ภูเก็ตเป็นต้นแบบ เนื่องจาก จ.ภูเก็ตมีความโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว ดังนั้นแนวทางพัฒนาการศึกษานอกจากจะมุ่งเน้นทางวิชาการแล้วจะเสริมทักษะทางภาษาให้แก่ผู้เรียน พร้อมสร้างโรงเรียนฝึกอาชีพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
“เพื่อให้ผู้บริหารประเทศเห็นภาพการศึกษา โดยจะยก จ.ภูเก็ต เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 เพื่อให้เห็นว่าในโรงเรียนที่แตกต่างกันควรจะจัดสรรงบประมาณแบบไหน โดยเราได้วางแนวทางการพัฒนาโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ต 3 แนวทางหลัก ได้แก่ โรงเรียนคุณภาพชุมชนระดับประถมศึกษา โรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ (stand alone) และยกระดับโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองด้วยการเติมทั้งห้องเรียนดนตรี ห้องเรียนกีฬา ครูต่างชาติ สระว่ายน้ำ สนามฟุตบอล ทั้งนี้ผมจะให้ตัวแทนจากทั้ง 77 จังหวัดไปทำแผนพัฒนาในจังหวัดของตัวเองเพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาให้เสร็จภายใน 1 เดือน รวมถึงพิจารณาวางแผนงบประมาณต่อไป อย่างไรก็ตาม ผมมั่นใจว่าสิ้นปีงบ 65 จะเห็นโรงเรียนตัวอย่างในจังหวัดภูเก็ตอย่างแน่นอน” รมว.ศธ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564