12 มกราคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2565 รวมวงเงินทั้งสิ้น 7,635.67 ล้านบาทประกอบด้วย 9 แผนงาน ได้แก่ นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาวงเงิน 364 ล้านบาท , ส่งเสริมโอกาสและพัฒนาคุณภาพนักเรียนวงเงิน 4,847.52 ล้านบาท, สร้างนวัตกรรมการพัฒนาครูและสถานศึกษาวงเงิน 459.15 ล้านบาท
พัฒนากลไกจังหวัดและระบบช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ยากจนและเด็กนอกระบบการศึกษาวงเงิน 386 ล้านบาท ,สร้างต้นแบบระบบการผลิตและพัฒนาครูวงเงิน 298.73 ล้านบาท, สร้างนวัตกรรมสายอาชีพสร้างโอกาสนักเรียนอัจฉริยะที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสได้เรียนต่อระดับสูงและพัฒนาประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาสวงเงิน 856.44 ล้านบาท , สร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติและวิเทศสัมพันธ์วงเงิน 39.20 ล้านบาท, งานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและระดมความร่วมมือทางสังคมวงเงิน 68.50 ล้านบาท และงานด้านการบริหารและพัฒนาระบบงานวงเงิน 316.13 ล้านบาท
ขณะเดียวกันครม.ยังได้เห็นชอบให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) โดย กสศ.ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลให้ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้ลดลงและเกิดการว่างงาน ประกอบกับผลวิเคราะห์จากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ มีข้อเสนอว่า อัตราเงินทุนเสมอภาคในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ ดังนั้นจึงเห็นควรให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้แตกต่างกัน และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ในระยะยาว
สำหรับอัตราเงินอุดหนุนใหม่มี ดังนี้ คือ
ระดับอนุบาล อัตราเดิม 4,000 บาทต่อปี ยังคงจ่ายเท่าเดิม
ระดับประถมศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 5,100 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 2,100 บาท
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 4,500 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 1,500 บาท
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/อาชีวศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 9,100 บาท เพิ่มขึ้น 6,100 บาท
ทั้งนี้ ตามนิยามของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ จะหมายถึง นักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมแบบPMT หรือ Proxy Means Testจากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอยู่ในกลุ่มค่าคะแนนความยากจนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ หรือ ครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันอังคาร ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564
สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 12 มกราคม 2564
ครม.เห็นชอบการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ตามที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. เห็นชอบแล้ว
การเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค)เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลให้ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ*ฯ มีรายได้ลดลงและเกิดการว่างงาน ประกอบกับผลวิเคราะห์จากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ซึ่ง กสศ. ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข้อเสนอว่าอัตราเงินทุนเสมอภาคในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ ดังนั้น เพื่อให้เป็นมาตรการที่สอดคล้องและตอบสนองต่อแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด – 19 พ.ศ. 2564 - 2565 (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563) กสศ. จึงเห็นควรเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้แตกต่างกัน และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ในระยะยาว โดยมีรายละเอียด สรุปได้ ดังนี้
ระดับการศึกษา |
อัตราเดิม (บาท/ปี) |
อัตราใหม่ (บาท/ปี) |
เพิ่มขึ้น (บาท/ปี) |
อนุบาล |
4,000 |
4,000 |
เท่าเดิม |
ประถมศึกษา |
3,000 |
5,100 |
2,100 |
มัธยมศึกษาตอนต้น |
3,000 |
4,500 |
1,500 |
มัธยมศึกษาตอนปลาย/อาชีวศึกษา |
3,000 |
9,100 |
6,100 |
_____________________
* นักเรียนยากจนพิเศษ หมายถึง นักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ Proxy Means Test: PMT จากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอยู่ในกลุ่มที่ค่าคะแนนความยากจนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษหรือครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาท/คน/เดือน
ที่มา สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 12 มกราคม 2564