“เลขา กพฐ.” ตรวจสอบข้อมูลรอบสุดท้าย การทำแผนที่ กำหนดจุดตั้ง ร.ร.คุณภาพของชุมชน-ร.ร.มัธยมดีสี่มุมเมือง -ร.ร.สแตนอโลน กับเขตพื้นที่ฯทั่วประเทศ
วันที่ 12 มกราคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบ VIDEO CONFERRENCE เพื่อสือสารทำความเข้าใจกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ เรื่อง การบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.ได้ประชุมชี้แจงให้ โรงเรียน และ สพท.ทำแผนที่ในการกำหนดว่าโรงเรียนคุณภาพของชุมชนใน แต่ละเขตพื้นที่นั้นจะอยู่ตรงจุดใด โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง อยู่จุดไหน และโรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ด้วยตนเอง (Stand Alone) จะอยู่ตรงไหน รวมถึงให้จัดทำแผนการปรับปรุงพัฒนาว่าถ้าจะทำให้โรงเรียนเหล่านี้มีคุณภาพจะต้องทำคำของบประมาณอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละเขตพื้นที่ฯได้ส่งแผนที่มาให้แล้วแต่จะต้องรวมเป็นแต่ละจังหวัด ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ วันนี้ ตนจึงได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้ทุกจังหวัดได้เติมเต็มแผนที่ในส่วนที่ยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ และการกำหนดจุดของโรงเรียนทั้ง 3 ประเภทนี้ว่ามีอะไรบ้าง โดยให้ ผอ.เขตพื้นที่ เขต 1 เป็นตัวกลางในการประสานภายในจังหวัดนั้นๆ
นายอัมพร กล่าวต่อว่า วันนี้เป็นการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจการปรับปรุงข้อมูลพื้นฐานและเป็นการตรวจสอบข้อมูลรอบสุดท้าย โดย สพฐ.จะทำข้อมูลพื้นฐานนี้ให้เสร็จภายในวันที่ 18 ม.ค. นี้ จากนั้น สพฐ. จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ได้นำกรอบแผนที่ และข้อมูลดังกล่าวนี้ ก่อนลงตรวจสอบพื้นที่จริง ว่าสิ่งที่สพฐ.เสนอไปนั้น มีความเป็นไปได้ มีความเหมาะสมสอดคล้องตามแนวนโยบายและความเป็นไปได้แค่ไหนอย่างไร ถ้าหากคณะกรรมการฯ ลงไปตรวจสอบแล้วยืนยันว่าเป็นไปได้ว่าสามารถดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้จริง ซึ่งการลงไปตาวจสอบตรงนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงจะสามารถสรุปและนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้
“ในเบื้องต้นผมได้ชี้แจงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน จากแนวนโยบาย ผมได้ชี้แนะว่าในปี 2565 แต่ละเขตพื้นที่ ที่จะกำหนดนำร่องขับเคลื่อน ก็ให้เขตพื้นที่ทำกรอบคำขอใช้งบประมาณ โดยระดับประถมฯให้ขอเขตพื้นที่ละ 1 จุด สำหรับเป็นโรงเรียนดีของชุมชน ส่วนโรงเรียนดีสี่มุมเมือง ให้ขอจังหวัดละ 1 จุด เพื่อใช้เป็นการเรียนรู้ การวิจัย และการศึกษาแนวคิดความเป็นไปได้ในสิ่งที่ทำ ซึ่งถ้าทำใน 1 จุดของแต่ละเขตพื้นที่ แต่ละจังหวัดสำเร็จได้ ผมก็มีความเชื่อว่าในจุดต่อๆไปก็จะสำเร็จไปด้วย ความท้าทายความสำเร็จตรงนี้ ผมติดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะเราได้ถอดบทเรียนในอดีตว่าทำไมโรงเรียรที่ไม่มีคุณภาพนั้น เกิดจากปัจจัยอะไร เราก็เติมปัจจัยที่เขาขาดเข้าไปให้ ก็เชื่อแน่ว่าถ้าโรงเรียนได้ปัจจัยพื้นฐานที่เพียงพอและมีคุณภาพ เราก็จะได้โรงเรียนดีที่มีคุณภาพ แล้วก็จะตอบโจทย์มิติเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของคนเมืองกับคนชนบทได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
และว่า สำหรับการจะเลือกว่า จุดใดจะเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนคุณภาพของชุมชน ที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง หรือที่ตั้งของโรงเรียน Stand Alone นั้น มีองประกอบหลายอย่าง ดูทั้งบริบทของพื้นที่โรงเรียน ดูสภาพปัจจุบันของโรงเรียนนั้น ในมิติของผู้บริหาร การบริหารจัดการ เส้นทางการคมนาคม และการรองรับการขยายตัวของพื้นที่ในอนาคต และต้องทำความเข้าใจกับโรงเรียนอื่น ๆด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันอังคาร ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564