จี้ ศธ.ปฏิรูประบบการเรียนรู้สู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ กสศ.ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ พบว่า เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบมากกว่าการแพร่ระบาดในรอบแรก โดยมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อในระหว่างเด็กด้วยกัน เนื่องจากเรามีเด็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก
“โรคโควิด-19 ระบาดมาแล้ว 1 ปี เราใช้ระบบการเรียนออนไลน์มาแก้ปัญหาการเรียนการสอน แต่ปรากฏว่าได้ผลเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ในเขตเมือง ส่วนโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็กที่อยู่ในเขตเมือง และชนบทห่างไกล ไม่ได้ผล แม้จะใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมหรือดีแอลทีวีก็แทบจะไม่ได้ผล ซึ่งน่าเป็นห่วงมากว่า คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในปีนี้จะถดถอยลงมาก”
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวและว่า ขณะนี้เราต้องวางนโยบายและวิธีคิดเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของประเทศไทยใหม่ ให้สอดคล้องกับแนวโน้มโลกและความสนใจของเด็กยุคนี้ ซึ่งเรียนรู้จากโลกดิจิทัลมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องเร่งระดมผู้รู้มาช่วยออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ที่เรียกว่า ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่จะช่วยเร่งการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ขณะนี้มีการนำความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ของ สสวท. , ภาษาไทย ของสถาบันสิรินธร, ภาษาอังกฤษของสถาบันภาษา จุฬาฯ , ภาษาจีนของ ม.หัวเฉียว เป็นต้น มาเผยแพร่ในวงกว้าง เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะช่วยได้คือ การขยายอินเตอร์เน็ตให้ถึงโรงเรียนห่างไกล ให้ครูและนักเรียนมีไวไฟใช้ฟรี หากทำได้จะทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 8 มกราคม 2564