"อัมพร"ชี้สอบโอเน็ตโรงเรียนไร้สิทธิบังคับเด็กสอบ
เลขาธิการกพฐ. แจง หนังสือแจ้งสอบโอเน็ตได้ตามความสมัครใจไม่ได้สร้างความสับสน แต่การสอบโอเน็ตเป็นการวัดการศึกษาชาติโดยรวม ชี้ เป็นความสมัครใจ โรงเรียนไม่มีสิทธิบังคับเด็กสอบ และไม่ได้นำผลโอเน็ตตัดสินผลการเรียน
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้ลงนามในหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เรื่อง นโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายลดและปรับเปลี่ยนรูปแบบการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนในทุกระดับการศึกษา เพื่อลดความซ้ำซ้อนเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพการศึกษา และลดความเครียดของนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอสรุปแนวทางการดำเนินการทดสอบโอเน็ต ดังต่อไปนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีประกาศเรื่อง นโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ลงวันที่ 25 ธ.ค. 63 ให้ผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของสถานศึกษาในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับการทดสอบโอเน็ตตามความสมัครใจ โดยให้ถือเป็นสิทธิส่วนตัวโดยเฉพาะของนักเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป
“ยืนยันว่าประกาศฉบับดังกล่าวไม่ได้ความสร้างสับสนให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนอย่างแน่นอน เพราะให้สิทธิตามความสมัครใจของนักเรียน อีกทั้งผลคะแนนโอเน็ตไม่ได้นำไปใช้ในการเข้าเรียนต่อหรือมีผลกระทบต่อการเรียนหรือการเลื่อนระดับชั้น โดยการสอบโอเน็ตเป็นการสอบเพื่อวัดการศึกษาชาติโดยรวมเท่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่ได้นำผลการสอบไปใช้ตัดสินผลการเรียน โดยผู้ปกครองไม่ต้องกังวล ทั้งนี้ขอย้ำว่าการสอบโอเน็ตสิทธิบุคคลของตัวนักเรียนที่โรงเรียนไม่สามามารถมาบังคับได้” เลขาธิการกพฐ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2564
ด้านเฟซบุ๊ค ศธ 360 องศา ได้โพสต์วิดีโอพร้อมคำอธิบายว่า
สั้นๆ แต่ชัดเจน เลขาธิการ กพฐ."อัมพร พินะสา" พูดถึงปีนี้จะมีการสอบ O-NET ทั้งระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 หรือไม่
รับชมวิดีโอ
ขอบคุณที่มา เฟซบุ๊ค ศธ 360 องศา