รมว.ศธ. เปิดแผนปี 2564 มุ่งเน้นนโยบาย “ลดเวลาเรียน-เพิ่มเวลารู้” พร้อมพัฒนาโรงเรียนคุณภาพชุมชนต่อเนื่องจากปีนี้ มั่นใจเห็นภาพชัดในไม่กี่เดือนข้างหน้า เป้าหมายเพื่อตอบโจทย์การยกระดับการศึกษาไทยเทียบเท่าสากล ลดความเหลื่อมล้ำ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงแผนงานใน พ.ศ. 2564 ว่า เป้าหมายที่กระทรวงศึกษาธิการต้องการทำให้เป็นเรื่องจริงจัง คือ เรื่องลดเวลาเรียน และเพิ่มเวลารู้ โดยต้องเร่งปรับหลักสูตรให้เกิดความเหมาะสม ในการนำเสนอข้อมูลที่มีคุณภาพต่างๆ ให้แก่เด็กนักเรียน
ในปี 2563 เรามีภาพของการวางแผนที่ชัดเจน สำหรับการขับเคลื่อนของกระทรวงศึกษาธิการ ในอนาคต ซึ่งการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้เป็นเรื่องที่ตน และกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งความหวังไว้ในปี 2564 ต้องผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เช่นเดียวกันกับการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพชุมชน ยังเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจาก ปี 2563 เพราะการมีโรงเรียนคุณภาพ ถือเป็นเรื่องสำคัญ นายณัฏฐพล กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวว่า “ผมมั่นใจว่า เรื่องโรงเรียนคุณภาพของชุมชน จะเห็นแนวทางชัดเจนในอีกไม่กี่เดือนจากนี้ และจะเห็นภาพของโรงเรียนคุณภาพของชุมชนที่เป็นรูปธรรม หลังจากที่มีงบประมาณปี 2565 หรือในช่วงปลายปี 2564 นี้”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การดำเนินการทุกเรื่อง ต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงของการขับเคลื่อนการศึกษาไทยในอนาคต รวมถึงการคำนึงถึงการใช้เงินงบประมาณที่เหมาะสม และต้องมีประสิทธิภาพ เช่น เรื่องของอาหารกลางที่ได้นำเสนอเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นของขวัญให้กับเด็กๆ เป็นการคิดคำนวณโดยพิจารณาถึงการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ หากในอนาคตมีการควบรวมโรงเรียน งบประมาณที่ให้กับโรงเรียนขนาดเล็กก็จะหายไป แต่จะไปรวมเข้ากันเป็นโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดใหญ่
นายณัฏฐพล กล่าวว่า เช่นเดียวกับเรื่องการนำครูต่างชาติเข้ามาสอนนักเรียน ซึ่งช่วงระยะเวลาก่อนหน้ามีข้อจำกัดบางที่อย่างที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ตอนนี้ สามารถเห็นภาพได้ชัดแล้วว่าเราต้องอยู่กับโรคโควิด-19 อย่างไร ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการจะรีบผลักดันให้เกิดขึ้น รวมถึงโครงการการศึกษายกกำลังสอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศูนย์ HCEC หรือว่าระบบแพลตฟอร์ม DEEP หรือว่า EIDP ซึ่งเป็นการประเมินในส่วนของสมุดพกของคุณครูและนักเรียน จะช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ มั่นใจว่า หากทุกคนเข้าใจแนวทางที่ดำเนินการ การการศึกษาไทยน่าจะมีการพัฒนาที่มากขึ้น
“ในปี 2563 มีข้อจำกัดบางอย่างที่เราไม่สามารถทำได้ ทุกๆ เรื่องที่เราทำงาน เป็นเรื่องที่เราต้องคำนึงถึงเรื่องของงบประมาณว่าเราใช้งบประมาณที่เหมาะสมหรือไม่ แล้วก็เรื่องกฎระเบียบต่างๆ เราก็มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดความซับซ้อน แล้วก็ยกเลิกในบางเรื่องที่อาจจะทำแล้วไม่ได้เป็นประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ของเตรียมอาชีวะศึกษา มีการดึงเรื่องกลับมา เพราะคิดว่าทาง สพฐ. สามารถบริหารจัดการการเตรียมอาชีวะในโรงเรียนได้เอง ซึ่งทุกเรื่องของการศึกษา เราไม่สามารถทำได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ต้องมีการวางแผนในระยะยาว ซึ่งวันนี้ผมคิดว่าทั้งกระทรวงศึกษาธิการ เรามีความเข้าใจตรงกันว่าเราต้องวางแผนอะไร เพื่อจะทำให้การศึกษาไทยมีคุณภาพมากขึ้น” นายณัฏฐพล กล่าว
ทั้งนี้ โครงการการศึกษายกกำลังสอง ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ หรือ Human Capital Excellence Center (HCEC) แพลตฟอร์มทางด้านการศึกษา หรือ Digital Education Excellence Platform (DEEP) และ แผนพัฒนารายบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ หรือ Excellence Individual Development Plan (EIDP)
นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังได้กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ด้วยว่า ได้พิจารณาการจัดงานวันครูทางออนไลน์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งระบบเทคโนโลยีสามารถรองรับได้ รวมถึงการพูดคุยเกี่ยวกับหลักสูตรในการผลิตครูของมหาวิทยาลัย ที่จำเป็นต้องมีการวางแผน โดยนำข้อมูลของทุกหน่วยงานมาผสมผสานกัน และเชื่อมโยงถึงแนวโน้มในอนาคต เพื่อทราบความต้องการของจำนวนครูในแต่ละสาขาที่แท้จริงว่า ควรจะเป็นเท่าไหร่ ในสาขาอะไร
สำหรับการสรรหาตำแหน่งรองเลขาธิการคุรุสภา ในที่ประชุมเห็นควรให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการสรรหา เพื่อให้มีวาระดำรงตำแหน่งเท่ากับเลขาธิการ และปรับหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ให้นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความถูกต้องและเหมาะกับกระบวนการในการปฏิบัติงานจริง รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อเชื่อมกับหน่วยงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. : รายงาน
ที่มา เว็บไซต์รัฐบาลไทย