รมว.ศึกษาธิการ แจงเหตุผลประกาศยกเลิกสอบโอเน็ตและวีเน็ต ไม่อยากให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทดสอบ ลดความเครียดเด็ก และต้องการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการประกาศยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (วีเน็ต) ปีการศึกษา 2563 ว่า การประกาศยกเลิกการทดสอบดังกล่าวมาจากที่ตนไม่ต้องการให้เกิดการซ้ำซ้อนของระบบการทดสอบ เนื่องจากผู้เรียนอาชีวศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีการทดสอบสมรรถนะผู้เรียนที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งการันตีรายได้และการมีงานทำให้ด้วย ขณะที่การทดสอบโอเน็ตตนอยากให้มีการนำผลคะแนนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาการทดสอบโอเน็ตกลับเกิดคำถามมากมายว่าเด็กนำคะแนนไปใช้อะไรบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ทั้งนี้ ยืนยันว่าตนยังให้ความสำคัญกับการทดสอบระดับชาติ แต่การนำผลลัพธ์ไปใช้ต้องตรงเป้าหมายของผู้เรียน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ตนไม่อยากให้สังคมสับสนว่าการที่ตนเซ็นประกาศยกเลิกการทดสอบโอเน็ตและวีเน็ตจะเป็นการโยนความรับผิดชอบให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งไม่อยากให้คิดเช่นนั้น แต่เป็นการเซ็นเสนอแนวทางให้ สทศ.บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ส่งผลให้การเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร รวมถึงข้อมูลที่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองและนักเรียน และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเตรียมการสอบ ดังนั้น อยากให้ สทศ.ทบทวนอย่างรอบด้านด้วยความเหมาะสมกับสถานการณ์จริงในปัจจุบันด้วย ขณะเดียวกันหากในอนาคต สทศ.ไม่ได้เป็นผู้จัดสอบโอเน็ตและวีเน็ตแล้วคงไม่มีการลดบทบาทของ สทศ.ลง เพราะ สทศ.ยังต้องเป็นหน่วยงานที่จะจัดทดสอบระดับชาติในหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการทดสอบวัดคุณภาพนักเรียนยังมีอยู่ แต่จะใช้วิธีการรูปแบบไหนนั้นจะมาหารือกันอีกครั้ง เพราะการทดสอบต่างๆ จะต้องใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อน และต้องไม่ทำให้เด็กเกิดความเครียดจากการทดสอบด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 23 ธันวาคม 2563