รมว.ศึกษาธิการ เตรียม ชง ครม.ลดเวลาชั่วโมงเรียน ชี้ ที่ผ่านมาเด็กเรียนหนักเกินไป ต้องทำกิจกรรมนอกห้องเรียนอย่างหลากหลาย ตอบโจทย์การเรียนการสอน
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2564 นี้ตนถือว่าการปรับลดภาระงานครู และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะครูจะเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ข้าราชการครู เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาตนได้ค้นพบปัญหาของข้าราชการครูแล้วว่าสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของครูบ้าง โดยปรับปรุงการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ใน 4 สายงาน คือ ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา ต้องการให้การประเมินวิทยฐานะปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาครูและยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง โดยการประเมินวิทยฐานะรูปแบบนี้จะไม่เหมือนการประเมินแบบเดิมอีกต่อไป เพราะเราจะลดความยุ่งยากของการประเมินและการประเมินด้วยเอกสารทั้งหมด รวมถึงการปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่งของครูจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย ขณะที่การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูนั้นสรุปแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนแล้ว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนเตรียมที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องแนวทางการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งจะเป็นการปรับลดชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลงด้วยการแบ่งชั่วโมงวิชาการครึ่งหนึ่งและชั่วโมงการทำกิจกรรมอีกครึ่งหนึ่ง แต่การทำกิจกรรมนั้นจะต้องเป็นกิจกรรมด้านวิชาการ โดยตนมองว่าที่ผ่านมาการปรับลดชั่วโมงในห้องเรียนจะเน้นการเรียนการสอนนับชั่วโมงเรียนให้ครบตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกทั้งการเรียนการสอนในห้องเรียนครูผู้สอนเน้นการเรียนแบบท่องจำและจดเลคเชอร์ แต่ขณะนี้ศธ.กำลังปรับหลักสูตรใหม่แล้ว ดังนั้นการเรียนการสอนก็จะต้องถูกปรับล้อตามไปด้วย ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้การรับรู้ของเด็กเปลี่ยนไปแล้ว และเด็กจำเป็นต้องมีทักษะชีวิตให้เรียนรู้และวิเคราะห์ค้นหาความรู้นอกห้องเรียนที่หลากหลายมากขึ้น
ต่อข้อถามว่า จะเป็นการเดินหน้านโยบายในอดีตเรื่องลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ใช่หรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ที่ผ่านมาทำได้ไม่จริง เพราะมองว่านโยบายดังกล่าวกลับเพิ่มเวลาเรียนและลดเวลารู้ของเด็กมากกว่า ดังนั้นจากนี้ไปอยากให้มีทำเรื่องลดเวลาเรียนในห้องเรียนและมาเพิ่มเวลารู้นอกห้องเรียนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเพิ่มเวลารู้ผ่านกระบวนการกิจกรรมจะตอบโจทย์การเรียนการสอนมากที่สุด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2563
“ครูตั้น"เสนอ"คนละครึ่ง"วิชาการ-กิจกรรม"เด็กนักเรียน
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตนเตรียมที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องแนวทางการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งจะเป็นการปรับลดชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลงด้วยการแบ่งชั่วโมงวิชาการครึ่งหนึ่งและชั่วโมงการทำกิจกรรมอีกครึ่งหนึ่ง แต่การทำกิจกรรมนั้นจะต้องเป็นกิจกรรมด้านวิชาการ โดยตนมองว่าที่ผ่านมาการปรับลดชั่วโมงในห้องเรียนจะเน้นการเรียนการสอนนับชั่วโมงเรียนให้ครบตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกทั้งการเรียนการสอนในห้องเรียนครูผู้สอนเน้นการเรียนแบบท่องจำและจดเลคเชอร์ แต่ขณะนี้ ศธ.กำลังปรับหลักสูตรใหม่แล้ว ดังนั้นการเรียนการสอนก็จะต้องถูกปรับล้อตามไปด้วย ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้การรับรู้ของเด็กเปลี่ยนไปแล้ว และเด็กจำเป็นต้องมีทักษะชีวิตให้เรียนรู้และวิเคราะห์ค้นหาความรู้นอกห้องเรียนที่หลากหลายมากขึ้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นการเดินหน้านโยบายในอดีตเรื่องลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ใช่หรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ที่ผ่านมาทำไม่ได้จริง ซึ่งตนกลับมองว่าเราเพิ่มเวลาเรียนและลดเวลารู้ของเด็กมากกว่า ดังนั้นจากนี้ไปตนต้องการให้มีทำเรื่องลดเวลาเรียนในห้องเรียนและมาเพิ่มเวลารู้นอกห้องเรียนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเพิ่มเวลารู้ผ่านกระบวนการกิจกรรมจะตอบโจทย์การเรียนการสอนมากที่สุด
นายณัฏฐพลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2564 นี้ ตนถือว่าการปรับลดภาระงานครู และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะครูจะเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ข้าราชการครู เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาตนได้ค้นพบปัญหาของข้าราชการครูแล้วว่าสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของครูบ้าง โดยปรับปรุงการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ใน 4 สายงาน คือ ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา ซึ่งตนต้องการให้การประเมินวิทยฐานะปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาครูและยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง โดยการประเมินวิทยฐานะรูปแบบนี้จะไม่เหมือนการประเมินแบบเดิมอีกต่อไป เพราะเราจะลดความยุ่งยากของการประเมินและการใช้เอกสารทั้งหมด รวมถึงการปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่งของครูจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย ขณะที่การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูนั้นสรุปแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนแล้ว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 21 ธันวาคม 2563