นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงเรื่องการจัดตั้งคำของบประมาณเพื่อขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โดยโครงการนี้จะต่อยอดจากโครงการโรงเรียนดีประจำตำบลและโครงการโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ให้เป็นเป็นรูปธรรมทั่วทั้งประเทศ โดยแต่ละจังหวัดจะต้องทำงานในเชิงระบบร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ตั้งแต่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต้องไปออกแบบรวมกัน เพื่อที่จะทำให้คุณภาพการศึกษามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง รวมทั้งจะต้องจัดทำข้อมูลว่าโรงเรียนคุณภาพของชุมชนที่จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษา และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองในแต่ละพื้นที่ควรจะมีกี่โรง เพื่อที่จะนำข้อมูลดังกล่าวจัดทำแผนดำเนินงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ภายในเดือนมกราคมนี้ และแผนดังกล่าวจะใช้ในการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงเรื่องปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ค่าสูงกว่าปกติ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อรองรับปัญหานี้ ตนได้หารือ ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้อำนวยการ สพท.และได้ออกมาตรการแจ้งไปยัง สพท.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ถือเป็นแนวปฏิบัติ คือ มาตรการเตรียมการรองรับ เพื่อเป็นการป้องกัน และมาตรฐานดำเนินการแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดเหตุขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นและจะทำควบคู่ไปกับการป้องกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ไปร่วมกันด้วย เช่น เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันได้ทั้งโควิด-19 และ PM 2.5 เป็นต้น
“เนื่องจากที่ผ่านมา เราได้ทราบความต้องการ ปัญหา จากทุกภาคส่วนว่า เด็กมัธยมศึกษามีความคาดหวัง และต้องการการเปิดพื้นที่ต่างๆ ให้พวกเขาให้แสดงออกในเรื่องของความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอน การวัดประเมินผล และการใช้ชีวิตในโรงเรียน ดังนั้นผมจึงได้เชิญ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั้ง 42 เขต ทั่วประเทศ มาหารือรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงมอบนโยบายในการจัดการเรียนนี้ เพื่อกำหนดกรอบแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในระดับประเทศร่วมกัน เพราะผมอยากเห็นภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ได้เปิดเวทีสร้างสรรค์ให้กับนักเรียนได้มีโอกาสแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ต่อการใช้สิทธิ หน้าที่ บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและจะหารือถึงการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นภายในโรงเรียนด้วย”เลขาฯ กพฐ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 16 ธันวาคม 2563