นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตนได้ชี้แจงแผนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดด้วยการสร้างโรงเรียนดีที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองให้ที่ประชุมรับทราบ เพราะการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถือเป็นการขับเคลื่อนที่ต้องเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แทบทั้งสิ้น โดยในส่วนของแผนงานด้านกีฬาเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการเล่นกีฬาในชีวิตประจำวันของนักเรียนให้มากขึ้น ซึ่งในระยะยาวตนต้องการให้มีการเล่นกีฬา 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ วันละ 1 ชั่วโมง โดยเราไม่จำเป็นต้องเล่นกีฬาเพื่อมุ่งความเป็นเลิศ แต่สามารถเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพได้ รวมทั้งต้องการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสและเล่นทุกชนิดกีฬา เพื่อจะได้ค้นหากีฬาที่ตัวเองชอบ มีความถนัดและส่งเสริมการเล่นกีฬาชนิดนั้นอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันจะต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลครูสำหรับการเทรนด์กีฬาให้นักเรียนด้วย
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับแผนงานด้านวัฒนธรรม ที่ประชุมได้พูดถึงการปรับการเรียนการสอนและวิธีการนำเสนอด้านวัฒนธรรมไทย และการเผยแพร่วัฒนธรรมจากจังหวัดต่างๆ ผ่านการทัศนศึกษา หรือการรับข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณ เนื่องจาก วธ.มีการผลิตสื่อวัฒนธรรมที่เหมาะสมไว้อยู่แล้ว ส่วนแผนทรัพยากรมนุษย์นั้นที่ประชุมอยากให้ศธ.ช่วยผลักดันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เร็ว ซึ่งขณะนี้เราได้ดำเนินการไว้แล้ว เช่น การพัฒนาครูให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี เป็นต้น ขณะที่แผนด้านแรงงานเราได้วางกรอบคุณวุฒวิชาชีพไว้แล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งแผนแรงงานนี้จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ เช่น ในอนาคตห้องเรียนระดับประถมศึกษา จะต้องเป็นห้องปฏิบัติการด้านอาชีพ เพื่อที่เด็กจะได้เลือกเรียนว่าตัวเองมีความสนใจอาชีพไหน และอยากที่จะเลือกเรียนต่อสายสามัญหรือสายอาชีพ เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการประชุมครั้งนี้ถือว่าแผนการทำงานของศธ.ทำได้ตรงกับแผนปฏิรูปประเทศ เนื่องจากเรามีความกังวลว่าหากทำแผนงานด้านการศึกษาล่าช้าจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนแผนงานด้านวัฒนธรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ จะมีการปรับเรียนประวัติศาสตร์ด้วยหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ในทุกๆ เรื่อง ตนคิดว่ารูปแบบที่ปลูกผังความเข้าใจของเด็กก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากการที่มีหนังสือและท่องจำ การที่ได้สัมผัสและรับรู้ข้อมูลจริงเป็นเรื่องที่สำคัญ และตนยืนยันว่า ศธ.ต้องการที่จะให้นักเรียนมีข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถวิเคราะห์ได้เองถึงความเหมาะสมในเรื่องต่างๆ เพราะที่ผ่านมาบางเรื่อง ศธ.อาจจะให้ข้อมูลไม่มากนัก ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอใหม่
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 15 ธันวาคม 2563