24 พฤศจิกายน 2563
เรื่อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด
เรียน ข้าราชการสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยขอเรียนให้ทราบความเป็นมาและปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด ดังนี้
ข้อ ๑ เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามีจำนวน ๔๒ เขต โดยมีไม่ครบทุกจังหวัดจึงเป็นเหตุให้โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้รับการพัฒนาได้ไม่เต็มที่เนื่องจากอยู่ห่างด้วยระยะทาง เส้นทางคมนาคม การขาดแคลนงบประมาณที่จะสนับสนุนเพื่อการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปพัฒนา เช่นโรงเรียนที่มีที่ตั้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาย่อมด้อยกว่าโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การได้รับการพัฒนานั้นจะต้องอาศัยการเดินทางไปเยี่ยมเยียนดูแลช่วยเหลือจากผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ เจ้าหน้าที่กลุ่ม ICT เจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมฯของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ปัญหาเรื่องความห่างด้วยระยะทางและปัญหาเรื่องสภาพของเส้นทางการคมนาคม ฯลฯ จึงทำให้โอกาสในการได้รับการพัฒนา น้อยมาก หลายโรงเรียนอยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่หลายร้อยกิโลเมตร
ข้อ ๒ ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ เจ้าหน้าที่กลุ่ม ICT เจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมฯ ที่เดินทางไปพัฒนาโรงเรียนที่มีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต่างต้องเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้ากับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ด้านการพัฒนา
ข้อ ๓ มาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติเรื่องหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไว้เป็นสาระสำคัญว่า
- ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา
- กำกับ ดูแล ติดตามและประเมินผลสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา
- ประสานการระดมทรัพยากรด้านต่างๆรวมทั้งทรัพยากรบุคคล เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดและพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา
- ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา
- จัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา
ข้อ ๔ จากปัญหาในเรื่องความห่างด้วยระยะทาง ปัญหาเส้นทางคมนาคม จึงทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ ๕ สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)นำโดยนายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมฯ พร้อมทั้งกรรมการบริหารสมาคม ประธานสาขาสมาคมและสมาชิกของสมาคมอีกหลายร้อยคนได้ไปเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) ดำเนินการเสนอเรื่องให้สภาการศึกษาพิจารณาเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาให้ครบทุกจังหวัด ในที่สุดสภาการศึกษาได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาให้ครบทุกจังหวัดและการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาดังกล่าวไม่กระทบกับการเพิ่มคน เพิ่มเงินและสถานที่ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อมูลการรายงานของ สพฐ. โดยสภาการศึกษาได้มีมติเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑
ข้อ ๖ เจ้าหน้าที่จาก สพฐ ได้ร่างหนังสือเสนอเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นายบุญรักษ์ ยอดเพชร) เพื่อนำเรื่องเสนอ รมว.ศธ ลงนามประกาศตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพิ่มเติมให้ครบทุกจังหวัด แต่เวลาล่วงพ้นไปเกือบปี ก็ยังไม่มีการลงนาม
ข้อ ๗ นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ได้ไปติดตามทวงถามจากนายบุญรักษ์ ยอดเพชร จึงได้รับทราบว่า รมว.ศธ ไม่ยอมลงนามแต่ไม่บอกสาเหตุ แต่ทราบในภายหลังว่าต้องนำอัตรากำลังและงบประมาณของ สพฐ โอนไปให้เป็นอัตรากำลังและงบประมาณของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จึงไม่สามารถให้มีการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาให้ครบทุกจังหวัดได้
ข้อ ๘ ในขณะนั้นเป็นช่วงที่ประเทศบริหารโดยรัฐบาล คสช. ซึ่งสามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ได้ทุกเรื่อง และห้ามมีการชุมนุมเกินกว่า ๕ คน ห้ามมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล ส.บ.ม.ท.จึงไม่สามารถเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างไรได้
ข้อ ๙ ต่อมาเมื่อรัฐบาลใหม่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็น รมว.ศธ นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายก ส.บ.ม.ท.พร้อมทั้งกรรมการบริหารสมาคม ประธานจังหวัด และสมาชิกของสมาคมฯได้ไปเรียนพบ รมว.ศธ เพื่อขอให้ลงนามในประกาศเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รมว.ศธ.มีท่าที่ใส่ใจและสนใจ แต่ รมว.ศธ ได้ขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเหตุผลความจำเป็นในการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาให้ครบทุกจังหวัดอีก คณะทำงานได้ทำการวิเคราะห์แล้วเห็นว่าควรให้มีการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฯ แต่หลังจากนั้นนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศธ ได้ออกมาให้ข่าวว่าจะไม่มีการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอีกเพราะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เมื่อเป็นเช่นนี้ ส.บ.ม.ท.จึงเห็นว่า รมว.ศธ มิได้มีเจตนาให้เพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามาแต่ต้น การให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาวิเคราะห์ศึกษาก็เป็นเพียงการซื้อเวลาประกอบกับท่าทีของ รมว.ศธ ในเรื่องการบริหาร ศธ ที่แสดงให้เห็นถึงการไม่เข้าใจปัญหาการศึกษาอย่างแท้จริง จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารฯและประธานสาขารวมทั้งที่ปรึกษา ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้แถลงการณ์ขับไล่ รมว.ศธ และให้ประท้วงด้วยการแต่งชุดดำ
ข้อ ๑๐ หลังจากมีการแถลงการณ์ดังกล่าว เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นายอำนาจ วิชยานุวัติ) ได้ให้นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ เข้าพบและแจ้งว่า รมว.ศธ ได้ให้แต่งตั้งคณะทำงานอีกคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาเพิ่มเขตโดยจะขอเพิ่มไม่ครบทุกจังหวัด ขอร้องว่าขอให้ ส.บ.ม.ท.ใจเย็นๆ
ข้อ ๑๑ เมื่อประมาณกลางเดือนเดือนกันยายน ๒๕๖๓ รมว.ศธ. ได้ไปบรรยายให้กับบรรดาผู้ที่สอบขึ้นบัญชีเป็นรอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ที่โรงแรมเอวาน่า บางนา กรุงเทพ มีผู้สอบถามว่าจะมีการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาหรือไม่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ ได้ตอบว่าจะไม่มีการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
ข้อ ๑๒ นายรัชชัยย์ ฯจึงได้ประชุมกรรมการบริหารสมาคม ประธานสาขา ที่ปรึกษาของสมาคมถึงแนวทางที่จะต้องดำเนินการต่อไป ที่ประชุมมีมติให้ฟ้อง รมว.ศธ เป็นคดีอาญาในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ข้อ ๑๓ เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลออกไปว่าจะมีการฟ้อง รมว.ศธ.เป็นคดีอาญา ก็ได้มีการสั่งการให้ สพฐ. โดย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานอีกคณะเพื่อศึกษาข้อมูลเรื่องนี้อีกทั้งๆที่มีการศึกษาวิเคราะห์มาหลายคณะแล้ว
จากข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการมิได้มีความจริงใจที่จะให้มีการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้เป็นเขตจังหวัดทั้งนี้อาจเนื่องจากงบประมาณและอัตรากำลังของ สพฐ.ที่จะใช้สำหรับการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานั้นถูกใช้จัดสรรให้ไปเป็นงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อภารกิจของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั้งคนและงบประมาณไปจนหมดสิ้น การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาว่าจะเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา นั้นจึงเป็นเพียงการซื้อเวลาเมื่อถูกเรียกร้องจาก ส.บ.ม.ท. การเรียกร้องของ ส.บ.ม.ท.เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนั้นมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนบุคคลต่อข้าราชการครูสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แต่อย่างใด
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ส.บ.ม.ท.จึงไม่อาจปล่อยให้โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องถูกทอดทิ้งในเรื่องการได้รับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งๆที่รัฐบาลพูดมาตลอดว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจได้ดำเนินการให้มีการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัดเพื่อลดควรมเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ)
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย
โทร ๐๘๓-๒๖๕๒๖๙๓