“ปลัด ศธ.” เตรียม หารือ “ผอ.สทศ.” ประเด็น เลิก-ไม่เลิก สอบโอเน็ต คำตอบสำคัญอยู่ที่ การสอบยังจำเป็นหรือไม่ อีกทั้ง ต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ชี้ทุกวันนี้การสอบโอเน็ตกลับเป็นการทดสอบเพื่อแข่งขันไม่ได้นำผลคะแนนมาพัฒนาเด็กเท่าที่ควร
นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบหมายให้ตนไปหารือร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เรื่องการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และม.6 ว่า การทดสอบโอเน็ตนี้ จะมีการยกเลิกการสอบหรือคงให้มีการสอบต่อไป ซึ่งในเร็วๆ นี้ ตนจะหารือกับนางศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (ผอ.สทศ.) โดยเบื้องต้นเรื่องการสอบโอเน็ตมีข้อเสนอหลากหลายแนวทาง เช่น จะให้มีการสอบแบบเดิม หรือมีการเปลี่ยนการทดสอบรูปแบบใหม่ เป็นต้น ซึ่งหากไม่มีการสอบโอเน็ตแล้ว การวัดและประเมินคุณภาพมาตรฐานผู้เรียนจะใช้สิ่งใดในการประเมิน เพราะหลักการที่แท้จริงของการสอบโอเน็ต คือ การวัดพัฒนาการของผู้เรียน และอาจจำเป็นจะต้องเริ่มวัดเฉพาะเด็กชั้น ป.6 ที่จะเติบโตในอนาคต เพื่อที่จะเตรียมจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กเหล่านั้น แต่ทุกวันนี้การสอบโอเน็ตกลับเป็นการทดสอบเพื่อแข่งขันไม่ได้นำผลคะแนนมาพัฒนาเด็กเท่าที่ควร
ปลัดศธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่แสดงความคิดเห็นเรื่องปรับการสอบโอเน็ตให้มีการสุ่มสอบในลักษณะเดียวกันกับโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ พิซา ด้วย รวมถึงหากไม่มีการสอบโอเน็ตแล้ว ก็อาจให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยทดสอบคุณภาพผู้เรียนเองได้หรือไม่ โดยส่วนตัว มองว่าการวัดคุณภาพหรือความสามารถของผู้เรียนเราวัดจากเนื้อหาการเรียนด้านวิชาการได้
"อย่างไรก็ตาม การสอบหรือไม่สอบโอเน็ตจะต้องดูภาพรวมทั้งหมดว่าจริงๆ แล้วโอเน็ตยังมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่า มีเด็กบางส่วนไม่ได้เข้าสอบโอเน็ต อีกทั้ง การสอบโอเน็ตยังเป็นข้อกำหนดของ สทศ.อยู่ ซึ่งจะต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย และหากไม่มีโอเน็ต จะมีการสอบที่เป็นมาตรฐานกลางสำหรับการวัดคุณภาพผู้เรียนด้วยรูปแบบใดบ้าง" นายสุภัทรกล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563