นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงินซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง คือ
1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของ "เงินต้นที่ผิดนัดจริง" เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น
2. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ "อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%" เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือบางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22% ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ (affordability risk) ได้ ดังนั้น การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้พยายามจ่ายชำระหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง
3. การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้ "ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก" เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือนสามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพหรือ NPL รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น
ประกาศการกำหนดเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงินต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริงมาคำนวณ ธปท. ได้มีหนังสือเวียนไปก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ผู้ให้บริการทางการเงินได้ปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ในการคำนวณแล้ว ซึ่งประชาชนและธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องติดต่อสาขาของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด
สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำหลักการตามประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามสมควร โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ลูกหนี้จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213
"ถ้าจะให้สรุปว่าคนไทยได้อะไรจากประกาศฉบับนี้? ประกาศฉบับนี้จะนำไปสู่เปลี่ยนแปลงใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียของระบบการเงินโดยรวม และช่วยให้ลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระหนี้ให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ เนื่องจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะไม่สูงเกินสมควร จนทำให้จ่ายหนี้ไม่ได้ รวมทั้งจะสร้างแรงจูงใจในระบบการเงินให้สมดุลมากขึ้น และจะช่วยลดจำนวนการฟ้องร้องดำเนินคดี นอกจากนี้ การปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้คำนวณจากฐานของงวดที่ผิดนัดจริง ก็จะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งก็จะมีผลทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของไทยในภาพรวมด้วย" นางธัญญนิตย์ กล่าวทิ้งท้าย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 ตุลาคม 2563
ธปท.ชี้แจงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ที่เป็นธรรมมากขึ้นและช่วยลดภาระของประชาชน
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่านับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ที่คิดบนฐานของเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดชำระจริง สถาบันการเงินได้เริ่มใช้ไปแล้ว (เดิมคิดจากเงินต้นคงค้างทั้งหมด) การปรับปรุงในครั้งนี้จะช่วยให้แนวปฏิบัติในเรื่องนี้เป็นธรรมมากขึ้นและช่วยลดภาระของประชาชน รวมทั้งลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ซึ่งแนวทางใหม่นี้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่ต่างประเทศใช้กัน ทั้งนี้ ประชาชนจะได้รับสิทธิจากการปรับปรุงในครั้งนี้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปขอแก้ไขสัญญา
ไม่รวมงวดชำระในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
นางธัญญนิตย์ ชี้แจงว่า “เดิมนั้นการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของ “เงินต้นคงค้างทั้งหมด”
สมมติว่าเรากู้ซื้อบ้าน 20 ปี 240 งวด ช่วง 2 ปีแรกผ่อนชำระดีมาโดยตลอด งวดที่ 25 มีปัญหาผ่อนชำระไม่ได้ สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด หรือเงินต้นในค่างวดที่ 25 ถึงงวดที่ 240
ในขณะที่การคำนวณที่ปรับปรุงใหม่จะให้คิดบนฐานของ “เงินต้นในค่างวดที่มีการผิดนัดชำระจริง” เท่านั้น โดยจะไม่รวมเงินต้นในค่างวดตามสัญญาในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง พูดง่ายๆ คือ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะคิดบนฐานของเงินต้นในงวดที่ 25 เท่านั้น โดยจะไม่รวมเงินต้นในงวดที่ 26-งวดที่ 240
หลักคิดสำคัญในเรื่องนี้ คือ การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ต้องคำนึงถึงความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ (credit risk) และความสามารถในการจ่ายของลูกหนี้ไปด้วยกัน ถ้าสูงเกินไปอาจเป็นต้นตอที่ทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ได้ (affordability risk)”
ลดผลกระทบการจ่ายล่าช้าช่วงโควิดและช่วยสถาบันการเงินให้มั่นคงขึ้นในระยะยาว
นางธัญญนิตย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “สถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้รายได้ของประชาชนจำนวนมากลดลง จึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะจ่ายค่างวดล่าช้าหรือไม่สามารถจ่ายได้ในช่วงนี้
ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะช่วยให้คนไทยมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้โดยรวมลดลง”
“การปรับปรุงครั้งนี้นอกจากจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นและช่วยลดภาระจ่ายของประชาชนแล้ว จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้นด้วยว่าระบบการธนาคารของไทยมีแนวปฏิบัติที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา ซึ่งหมายความว่าการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินจะมั่นคงขึ้นในระยะยาว”
คนที่ผิดนัดก่อน 1 พ.ค. 2563 เข้าข่าย
สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 พ.ค. 63 สถาบันการเงินสามารถนำหลักการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดแบบใหม่มาใช้ประกอบการพิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้ตามสมควร
หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของแบงก์ชาติ โทร.1213
ตอบข้อสงสัยเรื่อง คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้อย่างไรให้เป็นธรรม
วันนี้ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้อย่างไรให้เป็นธรรม” ซึ่งจะอธิบายหลักคิดสำคัญที่นำมาสู่การปรับปรุงในครั้งนี้ รวมทั้งข้อมูลรายละเอียดแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศ ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เปรียบเทียบ นอกจากนี้จะมีบทวิเคราะห์ที่จะให้คำตอบว่า ทำไมดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ที่ถูกลง จะช่วยให้การผิดนัดชำระหนี้ของประชาชนลดลง ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความได้ที่
website ของศูนย์ผู้ใช้บริการทางการเงิน 1213