ระเบียบทรงผมนักเรียน ผ่อนสุดๆ สั้นได้ยาวก็ได้ แต่ห้ามดัดหรือย้อม ห้ามครูทำโทษรุนแรงอย่างกล้อนผม ส่วนชุดนักเรียนระเบียบยืดหยุ่นอยู่แล้ว
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)ฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียนว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างระเบียบศธ. ว่าการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ…. โดยมีข้อเสนอแนะให้ปรับแก้บทนำ ให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนการคุ้มครองศักดิ์ความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วม รวมทั้งการป้องกันให้มีการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และ เห็นชอบให้แก้ไขระเบียบในข้อ 4 ดังนี้ นักเรียนจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย ทั้งนี้เพื่อสะท้อนความหลากหลายทางเพศและไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ ส่วนการดัดผม ย้อมสีผมให้ต่างไปจากเดิม ไว้หนวดหรือไว้เครา ยังคงเป็นข้อห้ามตามเดิม เนื่องเห็นว่า อาจทำให้เสียสมาธิในการเรียน นอกจากนี้ยังแก้ไขระเบียบข้อ 7 แก้ไข เป็น ภายใต้ข้อบังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาวางระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัดแย้งกับระเบียบนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเอกชนแล้วแต่กรณี ก่อนดำเนินการในวรรคหนึ่งให้สถานศึกษาดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครอง รวมทั้งเผยแพร่ผลรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ในสถานศึกษาหรือระบบสารสนเทศของสถานศึกษา
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้ทำหนังสือไปยังโรงเรียน เพื่อทำความเข้าใจ ดังนี้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียน โดยใช้กลไกของสภานักเรียนเช่น ให้ผู้แทนสภานักเรียน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ในการประชุมของคณะกรรมการสถานศึกษา ตามข้อ 7 กรณีนักเรียนทำผิดตามระเบียบ สิ่งที่ควรทำ คือ ต้องมีการชี้แจงก่อนและห้ามลงโทษด้วยวิธีรุนแรงที่เกินกว่าระเบียบศธ. ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาพ.ศ. 2548 กำหนด เช่น การกล้อนผม เป็นต้น ที่สำคัญต้องคำนึงถึงกฎหมายว่าด้วยสิทธิเด็กด้วย
“สำหรับเรื่องเครื่องแบบนักเรียน ที่มีการเรียกร้องทั้งให้แต่งกายตามเพศสภาพ ยกเลิกการแต่งเครื่องแบบนักเรียน และเครื่องแบบลูกเสือ ยุวกาชาด เนตรนารี นั้น กรณีนี้มีพ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และระเบียบศธ. ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 กำกับอยู่ ทางคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ระเบียบที่มีอยู่มีความยืดหยุ่นและสามารถประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม เพียงแต่บางโรงเรียนอาจยังไม่มีความเข้าใจ ดังนั้นที่ประชุมจะเสนอให้รมว.ศธ. ทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ขอให้มีความยืดหยุ่น โดยใช้ระเบียบข้อ 15 ที่กำหนดว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่เครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหารหรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์หรือชุดอื่น ๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ได้ ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนดโดยคำนึงถึงความประหยัดเหมาะสม และ ข้อ 16 ที่กำหนดว่า ในกรณีมีเหตุจำเห็นหรือมีเหตุพิเศษให้สถานศึกษาพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนได้ตามความเหมาะสม และ หากจะออกระเบียบใดเพิ่มเติมให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อน”นายสมเกียรติกล่าวและว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเสนอให้มีการตั้งคณะทำงาน 3 ชุด ได้แก่ คณะทำงานด้านการละเมิด การกระทำความรุนแรงและความปลอดภัยในสถานศึกษา คณะทำงานด้านความล้าหลังของสถานศึกษาที่ประทบต่อนักเรียน นักศึกษา และคณะทำงานด้านการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา ด้วย ทั้งนี้คณะกรรมการจะไปดูรายละเอียดก่อนนำข้อสรุปเสนอนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.focusnews.in.th