นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ อว.จะเปิดตัวโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โดยจะนำนิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชน จำนวน 60,000 คน ที่ได้รับการจ้างงาน เข้าไปช่วยพัฒนา 3,000 ตำบลทั่วประเทศ งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท โดยมีมหาวิทยาลัยกว่า 80 แห่ง ดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การลดความยากจนแบบมีเป้าหมาย และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ซึ่งการจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ ต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ให้กับชุมชน รวมถึงสนับสนุนให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายเอนก กล่าวต่อว่า โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จะส่งนิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชน 20 คนต่อตำบล เพื่อช่วยในกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ของแต่ละตำบล เช่น การสร้างและพัฒนาอาชีพใหม่ การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน การสร้างเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชน การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เป็นต้นรวมทั้ง เก็บข้อมูลในชุมชนเพื่อทำเป็นบิ๊กดาต้า (Big Data) มาทำการวิเคราะห์และกำหนดรูปแบบการแก้ปัญหาในแต่ละชุมชน ขณะเดียวกันนิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชนจะได้รับการพัฒนาทักษะใน 4 ด้าน ได้แก่ ดิติจัล การเงิน สังคมและภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับทักษะเฉพาะด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในพื้นที่
“ทั้งนี้ ภายใน 1 ปีของโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าว่าจะยกระดับตำบลที่มีความพร้อมไปสู่ระดับยั่งยืน ประมาณ 750 ตำบลหรือ 25 เปอร์เซ็นต์ของตำบลในโครงการ ที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ยกระดับตำบลที่มีความพร้อมปานกลางไปสู่ระดับพอเพียง ประมาณ 1,500 ตำบลหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ และจากนั้น อว.จะดำเนินการการให้ครอบคลุมทั้ง 7,900 ตำบลทั่วประเทศด้วย”รมว.อว.กล่าว
ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผย โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ว่า ทั้งนี้การที่มทร.ธัญบุรีได้ผ่านการพิจารณาถึง 80 โครงการ เพราะที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการในลักษณะนี้มาแล้วกว่า 10 ปี เป็นโครงการที่ลงมือปฏิบัติจริงและมีผลงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อภาครัฐจัดทำโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยขึ้น มทร.ธัญบุรีจึงมีความพร้อมที่จะนำเสนอโครงการ ทั้งนี้ทุกโครงการนั้น จะมีการลงพื้นที่จริงในชุมชน ทำงานร่วมกับชาวบ้าน อบต. กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ศึกษาความต้องการของชุมชนออย่างแท้จริง มีความต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านใดบ้าง เพื่อมุ่งเป้าหมายไปยังการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน / OTOP สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตรอาหาร ยกระดับการท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ พัฒนาองค์ความรู้และทักษะ ให้กับผู้ประกอบการและแรงงานเสริมสร้างอาชีพ ทั้งนี้ คาดว่าผลที่จะได้รับจากโครงการจะก่อให้เกิดการจ้างงาน จำนวน 1,600 คน และช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น ประชาชนในชุมชนได้รับการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชนทางด้านเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สิ่งแวดล้อม และผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชนและอุตสาหกรรม รวมถึงเกิดการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน จำนวน 80 ฐานข้อมูล
“โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมทร.ธัญบุรี แม้โครงการรัฐบาลจะจบลง แต่มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุนต่อไป เป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างแท้จริง และเป็นการยกระดับรายได้ของชุมชน โดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเข้ามาช่วย” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563