"สมพงษ์ "จวกศธ.แน่ใจเหรอ อัพเดทหลักสูตรเก่าเป็นของใหม่ ทั้งที่ล้าสมัย น่าเบื่อ ไม่สามารถสร้างพลเมืองประชาธิปไตยที่แท้จริง
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ว่า ศธ.ไม่ควรนำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของเดิมมาอัพเดทใหม่ การดำเนินการในลักษณะนี้ถือเป็นการปรับแก้หลักสูตรไม่ตรงจุด เพราะเนื้อหาในหลักสูตรเก่านั้นอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาของ 8 กลุ่มสาระวิชาหลัก กว่า 20 วิชา โดยตนมองว่า ศธ.ไม่ควรนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับเดิมมาใช้อีกต่อไป ไม่ว่าจะนำมาอัพเดทใหม่ก็ตาม เพราะเป็นหลักสูตรที่ล้าสมัยส่งผลให้การเรียนในห้องเรียนน่าเบื่อ ไม่ตอบโจทย์การเรียนในโลกยุคปัจจุบัน และไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง อีกทั้งหลักสูตรแบบเก่าทำให้ครูจำเป็นต้องเร่งสอนเ เพื่อให้เด็กท่องจำและนำไปสอบแข่งขัน ซึ่งถือว่าไม่ใช่การให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น
อาจารย์คณะครุศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า อยากให้ ศธ.มีการปรับหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติของเด็กให้มากขึ้น เช่น ภาคเช้าเรียนทฤษฎี ต่อจากนั้นภาคบ่ายเน้นการลงมือปฏิบัติให้เด็กคิดค้นโครงการด้วยตัวเองจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เพราะโลกแห่งอนาคตเด็กจะเรียนรู้จากโลกออนไลน์มากขึ้น เหมือนเป็นการศึกษาที่ค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งโรงเรียนจะต้องเป็นพื้นที่เสรีภาพให้เด็กแสดงออกได้อย่างเต็มที่ โดยให้ครูทำหน้าที่เพียงควบคุมกระบวนการเรียนรู้เท่านั้น เพราะหากทำได้จะเป็นการสร้างพลเมืองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อีกทั้งจะทำให้เพิ่มทักษะการคิดของเด็กไทยมากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนประเด็นที่มองว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะที่นำร่องทดลองใช้ในระดับประถมศึกษาก่อนหน้านี้นั้น นายสมพงษ์กล่าวว่า อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงนั้น ตนก็เห็นด้วยว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะอาจนำมาใช้ได้กับโรงเรียนบางส่วนเท่านั้น แต่ก็ไม่อยากให้ละทิ้งหลักสูตรฐานสมรรถนะทั้งหมด แต่สามารถนำมาเขย่ารวมเป็นหลักสูตรใหม่ได้
"ผมไม่เห็นด้วยกับการปรับหลักสูตรที่นำหลักสูตรของเดิมมาอัพเดทใหม่ ซึ่งอย่างไรก็ตาม ผมมองว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบใหม่ จะต้องเป็นหลักสูตรที่มุ่งสร้างพลเมืองให้เป็นเป้าหมายของประเทศมากกว่า”อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 28 ตุลาคม 2563