นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบอนุมัติแผนการขับเคลื่อนกำลังคนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อที่จะเป็นการสร้างมาตรฐานการวางคุณวุฒิของประเทศชาติ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จนถึง ปริญญาเอก วางมาตรฐานเป็นระดับและสามารถเปรียบเทียบได้ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทำให้มาตรฐานของประเทศไทยสามารถเทียบเคียงได้กับประเทศเพื่อนบ้านในบางประเทศ ขณะเดียวกันภายในประเทศไทยเอง กรอบคุณวุฒิดังกล่าวจะทำให้ความสามารถของนักเรียน นักศึกษา เปรียบเทียบได้กับมาตรฐานของแรงงานที่เป็นสายวิชาชีพ ซึ่งแผนการขับเคลื่อนดังกล่าวจะครอบคลุมใน 7 อาชีพหลัก ได้แก่
1.โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน
2.โลจิสติกส์และซัพพลายเชน
3.หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
4.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์
5.อาหารและการเกษตร
6.ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน
7.แม่พิมพ์
เพื่อที่จะต่อยอดว่าเราจะมาสามารถกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิในอาชีพอื่นๆ ได้อีกหรือไม่
“เรื่องนี้ผมมองว่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้เด็กที่จบการศึกษาสายอาชีพ สามารถไปเทียบฝีมือแรงงาน เพื่อรับประกาศนียบัตร ขณะเดียวกันเมื่อเด็กมีประสบการณ์การทำงานก็สามารถนำมาเทียบเคียงและใช้เป็นทักษะในการเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาต่างๆ ต่อไป ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีสำหรับประเทศไทย”รมว.ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563