ส่อเพิ่ม"สพม."แต่ไม่ครบทุกจังหวัด และต้องอยู่ในกรอบ ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มคน
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯกพฐ.) กล่าวถึงการเพิ่มสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ให้ครบทุกจังหวัด ว่า เรื่องดังกล่าวตนเตรียมจะหารือกับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในเร็วๆนี้ เนื่องจาก รมว.ศธ. มีความเป็นห่วงปัญหาการบริหารจัดการในพื้นที่ และต้องการทราบข้อมูลว่าการเพิ่ม สพม.ให้ครบทุกจังหวัดนั้นมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง อีกทั้งการมี สพม.ไม่ครบทุกจังหวัดส่งผลอย่างไรต่อการบริหารจัดการศึกษาในพื้นที่บ้างเพราะการดำเนินการจะต้องยึดประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
“ประเด็นการเพิ่มสพม.ให้ครบทุกจังหวัดนั้นต้องพิจารณาจากหลายมิติด้วยโครงสร้างและการทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งการมีสพม.ไม่ครบทุกจังหวัดมีปัญหาในการทำงานระดับพื้นที่จริงหรือไม่ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหาจริง เช่น สพม.บางแห่งมีพื้นตั้งอยู่ห่างไกลกันมากและต้องรับผิดชอบโรงเรียน 2-3 จังหวัด หรือ ในจังหวัดนั้นมีโรงเรียนตั้งขึ้นเพียง 5 แห่งแต่จะต้องตั้งสพม.เพิ่มขึ้นมาอีก ก็ต้องดูว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ เป็นต้น ดังนั้นเรื่องเพิ่มสพม.ครบทุกจังหวัดก็อาจจำเป็นแต่ไม่ต้องเพิ่มให้ครบทั้งหมดได้ รวมถึงจะต้องศึกษาว่าหากเพิ่มครบหรือไม่ครบทุกจังหวัดจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง”เลขาฯ กพฐ.กล่าว
นายอัมพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสภาการศึกษามีเงื่อนไขให้ขยายสพม.ให้ครบทุกจังหวัดแล้ว โดยสภาการศึกษาได้มีหนังสือมาให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในสมัยที่ตนยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการก.ค.ศ.ว่า การเพิ่มสพม.ให้ครบทุกจังหวัด จะทำอย่างไรที่จะไม่เพิ่มคน ไม่เพิ่มงบประมาณ และไม่เพิ่มสถานที่ได้บ้าง ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เพิ่ม สพม.ครบทุกจังหวัดจะสร้างความกดดันหรือไม่นั้น ตนคิดว่าไม่กดดัน เพราะในที่สุดแล้วเรื่องนี้ต้องพิจารณาจากทฤษฎีเชิงระบบ โดยเอาจังหวัดมาเป็นฐานและดูจากความเหมาะสม รวมถึงประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนงาน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 15 ตุลาคม 2563