จากการประชุมเรื่อง “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ : ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ.คาดหวังให้โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองทำให้การศึกษาระดับประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการประชุมระดับนานาชาติที่ กสศ.จัดขึ้น สามารถสรุปประเด็นความก้าวหน้าและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ได้นำเสนอผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศไทยพบว่า มีปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนัก หากจะดึงให้เศรษฐกิจดีขึ้น ต้องดึงเด็กที่เรียนหนังสือไม่จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอยู่ 20% กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา จะสามารถดึงความถดถอยของเศรษฐกิจกลับมาได้ถึง 3% และหากทำให้โรงเรียนทั้งประเทศไทยสอบผ่านสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) จะดึงความถดถอยทางเศรษฐกิจของไทยได้ 5% ถ้าปีนี้ประเทศไทยติดลบทางเศรษฐกิจ 10% แล้วทำ 2 เรื่องนี้สัมฤทธิผลจะดึงเศรษฐกิจของชาติได้ถึง 7-8% ซึ่งเป็นสิ่งที่ กสศ.ทำอยู่คือเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน และการดึงไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผอ.สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า ปีการศึกษา 2562 กสศ.สนับสนุนให้โรงเรียนประถมศึกษาโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขนาดกลาง 290 แห่ง เกิดการพัฒนาคุณภาพตนเองและการเปลี่ยนแปลง ด้านระบบบริหารจัดการผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ซึ่งผลการประเมินพบว่า โรงเรียนมีการพัฒนาในระดับดีเยี่ยม 34 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 11.72 มีการพัฒนาในระดับดี 244 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 81 และอยู่ในระดับต้องปรับปรุง 12 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.14 ส่วนพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของนักเรียน พบว่า
1.ด้านทักษะ มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นร้อยละ 40.06 แบ่งเป็น ทักษะการคิดสร้างสรรค์มากที่สุด รองลงมา คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหาและวิพากษ์อย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการสื่อสาร ทักษะชีวิต ตามลำดับ
2.ด้านคุณลักษณะ มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นร้อยละ 27.63 แบ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านมีวินัยมากที่สุด รองลงมาคือมีความซื่อสัตย์ และมีจิตสาธารณะ สำหรับปีการศึกษา 2563 กสศ.จะดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางเพิ่มอีก 443 แห่ง โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนพัฒนาตนเองได้ด้วยการคิดออกแบบวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน และใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 28 กันยายน 2563