นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือร่วมกับคณะกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้มานำเสนอแผนการประเมินการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเบื้องต้นตนได้มีข้อเสนอแนะให้กับคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวไป ว่า การประเมินวิทยฐานะรูปแบบใหม่จะต้องสอดคล้องกับตัวผู้เรียน เน้นผลสัมฤทธิ์จากผู้เรียน รวมถึงจะต้องลดการทำเอกสารและลดขั้นตอนการประเมิน เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระงานให้แก่ครูจนเกินไป โดยการทำเอกสารเพื่อขอประเมินวิทยฐานะจะต้องลดลงด้วย
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนยังต้องการให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปรับให้การประเมินทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกัน เพราะเราไม่ต้องการให้การปรับปรุงเรื่องนี้สร้างภาระให้แก่ครู เช่น ประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนก็เตรียมข้อมูลอย่างหนึ่ง ประเมินวิทยฐานะก็เตรียมข้อมูลอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น เราจะต้องออกแบบการประเมินให้สามารถนำไปใช้กับการประเมินต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย โดยจะประเมินจากหน้าที่และความรับผิดชอบของครูที่ส่งผลต่อเด็กโดยตรง เริ่มตั้งแต่กระบวนการใช้หลักสูตรในการจัดการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์เด็กจากการเรียนการสอนในห้องเรียนด้วย
“จากนี้การประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะจะเปลี่ยนใหม่ ลดการประเมินเอกสาร หรือกระบวนการประเมินที่มีความยุ่งยาก โดยจะทำให้การประเมินดังกล่าวมีความสะดวกมากขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินวิทยฐานะ เป็นต้น ดังนั้นระหว่างคณะกรรมการฯ ที่ได้ไปศึกษามา 6-7 เดือนแล้วปัญหาใดที่เป็นอุปสรรคต่อการประเมินวิทยฐานะก็ให้เร่งปรับปรุงแก้ไข เพราะอยากให้การประเมินเหล่านี้มีการผสมผสานร่วมกับสายอื่นๆ ด้วย เช่น การประเมินเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะสายงานศึกษานิเทศก์ สายงานบริหารการศึกษา เป็นต้น ส่วนการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะจะแล้วเสร็จได้เมื่อไหร่นั้นผมพยายามเร่งให้คณะกรรมการฯรวบรวมข้อมูลและปรับปรุงให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าการปรับปรุงเกณฑ์ประเมินดังกล่าวน่าจะเริ่มจากสายครูผู้สอนก่อนเป็นอันดับแรก”รมว.ศธ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 17 กันยายน 2563