เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ได้เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีการตรวจสอบการดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ซึ่งล่าสุด ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องกว่า 90 ราย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นว่าต้องมีการลงโทษตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล นั้น ทาง ส.บ.ม.ท. เห็นว่า รมว.ศธ. ควรใช้ช้สิทธิตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2561 ในการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่ยังไม่ได้รับโทษ ได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงใหม่ต่อ รมว.ศธ.เพื่อส่งต่อไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้ง และขอให้พิจารณาข้าราชการที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวด้วยการใช้ระดับโทษเพียง ปลดออก ก็จะเป็นการให้โอกาสข้าราชการเหล่านี้ได้มีกินมีใช้ในการยังชีพ มีทุนรอนในการจ้างทนายความไปต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยข้าราชการที่ได้รับโทษไล่ออกจากราชการไปแล้วและขณะนี้กำลังยื่นอุทธรณ์ จึงขอให้ รมว.ศธ.ในฐานะประธาน ก.ค.ศ.และมีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ ได้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วเป็นกรณีพิเศษและขอได้โปรดลดระดับโทษเป็น “ปลดออกจากราชการ” ให้ด้วย
สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย
เลขที่ ๓๓๐/๓ ถนนกรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม
เขตพระนคร กรุงเทพ ๑๒๐๐๐
๑๑ กันยายน ๒๕๖๓
เรื่อง ขอให้ดำเนินการตามมาตรา ๙๙ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑
กราบเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ตามที่สื่อหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เสนอข่าวว่าเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๓ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบการดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. และล่าสุด ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง กว่า ๙๐ ราย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นว่าต้องมีการลงโทษตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล เช่นเมื่อชี้มูลความผิดว่าให้ไล่ออก ศธ.จะไปลดโทษเหลือแค่ปลดออกก็คงไม่ได้เพราะเรื่องทุจริตถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ต้องจัดการกับผู้เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด นั้น กระกระผมขอกราบเรียน ฯพณฯ ว่าเรื่องการกล่าวหาว่าบรรดาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียนทุจริตต่อหน้าที่ในเรื่องสนามฟุตซอลนั้น กระกระผมได้รับมอบหมายจากสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทไทย (ส.บ.ม.ท.)ให้ไปดูและช่วยเหลือทางคดีหากค้นพบว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้กระทำความผิดก็ให้ร่างข้อต่อสู้ให้บรรดาผู้ถูกกล่าวหาด้วย และเกี่ยวกับเรื่องนี้กระผมขอเรียนว่าจากการลงพื้นที่ไปให้ความดูแลช่วยเหลือและจากการศึกษารายงานการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. นั้นมีข้อค้นพบดังนี้
๑. กระผมไม่พบว่ามีผู้ถูกกล่าวหาแม้แต่รายเดียวที่มีข้อค้นพบว่าได้รับเงินหรือผลประโยชน์อะไรเป็นการส่วนตัวและจากรายงานการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ก็ไม่ปรากฏว่า ป.ป.ช.ชี้ให้เห็นเป็นหลักฐานว่ามีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียน รายใดที่ได้รับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดเป็นการส่วนตัวในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ เทียบเคียงกับคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยกรณีไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและไล่นายอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ออกจากราชการโดยศาลปกครองสูงสุดชี้ว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและอดีตนายอำเภอแม่เมาะ มีเจตนาเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดที่มิควรได้ในเรื่องดังกล่าว
๒. กระผมไม่พบว่ามีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียน รายใดมีความสัมพันธ์กันเป็นการส่วนตัวอย่างใกล้ชิดหรือเป็นเครือญาติกันกับผู้รับจ้างหรือนักการเมืองจนถึงขั้นยอมลดตัวเองในการทำหน้าที่ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ผู้รับจ้างหรือนักการเมืองรายใดได้รับผลประโยชน์ที่มิควรได้แต่อย่างใด
๓. องค์ประกอบที่สำคัญของประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ คือ เจตนาทุจริต ซึ่งถือว่าเป็นเจตนาพิเศษ ที่จะต้องนำสืบให้ปรากฏให้เห็นชัดจึงจะสามารถลงโทษได้ แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนรายงานการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ก็ไม่ปรากฏว่ามีการชี้ให้เห็นถึงเจตนาพิเศษคือเจตนาโดยทุจริต ของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียน แต่อย่างใด จึงไม่น่ารับฟังเป็นประเด็นเพื่อลงโทษได้
๔. กระผมได้รับแจ้งจากผู้ถูกกล่าวหาที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ถูก สพฐ. สั่งลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการ ให้ข้อมูลว่า รายงานการชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่นั้น ป.ป.ช.รายงานด้วยข้อความเนื้อหาเดียวกันเพียงเปลี่ยนชื่อผู้ถูกชี้มูลความผิดเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้จริง ก็ไม่น่าจะถือว่าถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม เพราะข้อมูลของแต่และคนแต่ละโรงเรียนหรือแต่ละหน่วยงานย่อมแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมการกระทำและตามงบประมาณ
๕. ข้อกล่าวหาที่ว่า “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ตกลงใจที่จะรับงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างสนามฟุตซอลตามความประสงค์ของนักการเมืองโดยรู้อยู่แล้วว่านักการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถที่จะเข้าไปกระทำด้วยประการใดๆอันมีผลให้นักการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีส่วนโดยตรงในการใช้งบประมาณรายจ่าย ในลักษณะครอบงำ สั่งการและวางแผนในการใช้จ่ายงบประมาณของ สพฐ. อันเป็นการขัดต่อมาตรา ๑๖๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” กระผมขอเรียนถามว่าบรรดาผู้ถูกกล่าวหาทั้งหลายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กมีที่ตั้งอยู่ในชนบท จะมีความสามารถในการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาได้อย่างไร
๖. ผู้ถูกกล่าวหาหลายรายมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสนามฟุตซอลนี้ล้วนแล้วแต่มีพฤติกรรมที่อยู่ห่างจากการกล่าวหาว่าทุจริตมาก เช่นบางท่านไม่มีส่วนรู้เห็นในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง แต่มีหน้าที่ตรวจรับพัสดุก็ได้ดำเนินการตรวจรับไปตามหน้าที่ มิได้มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานการลงโทษว่าพัสดุที่ตรวจรับนั้นไม่ครบหรือผิดแบบรูปรายการแต่อย่างใด หรือบางรายเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เพิ่งย้ายมา ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆกับต้นทางการจัดซื้อจัดจ้างแต่ต้องลงนามอนุมัติเงินที่มีการเบิกจ่าย ก็ถูกลงโทษในฐานความผิดเดียวกับผู้อื่น
๗ รายงานจากคำสั่งลงโทษไม่ปรากฏว่ามีการหยิบยกเอาคำคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้ยื่นคำให้การหักล้างแก้ข้อกล่าวหาในแต่ละประเด็นพร้อมพยานหลักฐาน แล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้ให้เห็นว่าคำคัดค้านฟังไม่ขึ้นอย่างไร
๘. มาตรา ๙๙ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งบัญญัติไว้มีสาระว่า “ในการลงโทษทางวินัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีพยานหลักฐานใหม่อันแสดงได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้มีการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาหรือกระทำความผิดในฐานความผิดที่ที่แตกต่างจากที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน มีหนังสือพร้อมเอกสารและพยานหลักฐานถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ขอพิจารณาทบทวนมตินั้นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.” กระผมเห็นว่าการที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งลงโทษไล่ออกข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเรื่องการก่อสร้างสนามฟุตซอล ที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวนมากกว่า ๖๐ ราย นั้น กระทรวงศึกษาธิการมิได้ใช้ประโยชน์จากมาตรา ๙๙ ในการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงให้การต่อสู้คดีเพิ่มเติมตามสิทธิทีได้รับการรับรองจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่อย่างใด จึงทำให้ข้าราชการทั้ง ๖๐ กว่ารายดังกล่าวเสียโอกาส ดังนั้นกระผมจึงขอความเมตตาจาก ฯพณฯ และเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมประกอบกับกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ จึงขอได้โปรดใช้ประโยชน์จากมาตรา ๙๙ นี้ ในการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหากลุ่มต่อไปที่ ป.ป.ช.เพิ่งชี้มูลความผิด ได้ชี้แจงเพิ่มเติมและส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณาใหม่ต่อไป
๙. ตามที่ ฯพณฯ ให้สัมภาษณ์ว่า “ว่าต้องมีการลงโทษตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล เช่นเมื่อชี้มูลความผิดว่าให้ไล่ออก ศธ.จะไปลดโทษเหลือแค่ปลดออกก็คงไม่ได้เพราะเรื่องทุจริตถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ต้องจัดการกับผู้เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด” นั้น ด้วยความเคารพอย่างสูงต่อความเห็นของ ฯพณฯ กระผมเห็นต่างจากความเห็นดังกล่าวของ ฯพณฯ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษาที่ ฟ ๒๐/๒๕๖๐ มีสาระสำคัญว่า “ในชั้นการออกคำสั่งลงโทษทางวินัย กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจออกคำสั่งจะต้องพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล อย่างไรก็ตามผู้บังคับบัญชามีอำนาจดุลพินิจในเรื่องระดับโทษได้ กล่าวคือมีอำนาจที่จะมีมติให้ระดับโทษเป็น “ปลดออก” ได้ ในชั้นอุทธรณ์ก็เช่นเดียวกันคือ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดระดับโทษเป็น ปลดออก ได้”
๑๐. ตามที่มีข้อพิจารณาว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ลงโทษไล่ออกจากราชการสำหรับข้าราชการที่กระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้มีเหตุอันควรปราณีก็ไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษเป็นปลดออกจากราชการ นั้น กรณีนี้ขอเรียนดังนี้
๑๐.๑ มาตรา ๙๙ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ บัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่าในกรณีที่ข้าราชการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต้องลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนผ่อนโทษห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก
จากบทบัญญัติแห่งมาตรานี้เห็นได้ว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติได้บัญญัติให้อำนาจผู้บังคับบัญชามีดุลพินิจในการลงโทษข้าราชการที่กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้สองสถานคือปลดออกหรือไล่ออกก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของกรณีและยังขึ้นอยู่กับเหตุอันควรลดหย่อนโทษที่ข้าราชการรายนั้นมีอยู่ และเมื่อกฎหมายบัญญัติให้ผู้บังคับบัญชามีดุลพินิจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็จะงดเสียไม่ใช้ดุลพินิจหรือยึดถือเอาความเห็นหรือการตัดสินใจของคนอื่นมาเป็นความเห็นหรือการตัดสินใจของตนเองไม่ได้
๑๐.๒ หนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๒๐๕/ว.๒๓๔ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ เวียนแจ้งมติคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญว่า การลงโทษผู้กระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งควรลงโทษเป็นไล่ออกจากราชการ การนำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืนหรือมีเหตุอันควรปราณีอื่นใด ไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษเป็นปลดออกจากราชการ
กรณีนี้เห็นว่าเรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่ามติคณะรัฐมนตรีนี้มีฐานะเป็น “กฎ” ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ หรือไม่ ประเด็นนี้ผมเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีฉบับนี้ไม่มีฐานะเป็น “กฎ” เพราะโดยสภาพแล้วมติคณะรัฐมนตรีนี้ไม่ใช่พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบข้อบังคับ ที่สำคัญคือไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการออกมติดังกล่าวมาใช้บังคับ นอกจากนี้หากมติดังกล่าวเป็น กฎ ก็มีฐานะทางกฎหมายที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ ซึ่งไม่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ใดๆให้ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติได้ ดังนั้นผู้บังคับบัญชาจึงมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งลงโทษได้ว่าจะให้เป็นไล่ออกหรือหากมีเหตุอันควรลดหย่อนโทษก็ต้องหยิบยกเอาเหตุดังกล่าวมาทำการสั่งให้ลดหย่อนโทษเป็นปลดออกจากราชการก็ได้ นอกจากนี้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวยังใช้คำว่า “ควรลงโทษเป็นไล่ออก” การใช้คำว่า “ควร” จึงเป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้นมิได้เป็นคำบังคับและหากถือว่าเป็นคำบังคับ ก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้เพราะมติคณะรัฐมนตรีไม่สามารถขัดกับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติได้
๑๑. จากข้อมูลข้อเท็จจริงในคดีอื่นๆอีกหลายคดี ป.ป.ช.ได้เคยดำเนินการผิดพลาดโดยกล่าวหาและชี้มูลความผิดข้าราชการจนต้องได้รับคำสั่งไล่ออกจากราชการ แต่ต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยให้ส่วนราชการที่มีคำสั่งไล่ออกข้าราชการให้เพิกถอนคำสั่งและคืนสิทธิประโยชน์ให้แก่ข้าราชการดังกล่าวด้วยเหตุผลเพราะ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจหรือผู้ถูกชี้มูลความผิดไม่ได้กระทำผิดตามที่ ป.ป.ช.กล่าวหา เช่น
- คดีหมายเลขแดง ที่ ๘/๒๕๖๒ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กระทรวงมหาดไทยเพิกถอนคำสั่งไล่อออกข้าราชการพลเรือนจำนวน ๘๙ รายที่เข้าอบรมหลักสูตรนายอำเภอโดยศาลปกครองสูงสุดชี้ว่าพวกผู้ถูกกล่าวหามิได้กระทำความผิดตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแต่อย่างใด
- คดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ให้ไล่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและนายอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ออกจากราชการ โดยศาลเห็นว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและนายอำเภอแม่เมาะ มีเจตนาเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดที่มิควรได้ในเรื่องดังกล่าว
- คดีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ๑๑๖๗/๒๕๖๑ ให้กรมพลศึกษาเพิกถอนคำสั่งไล่ข้าราชการรายหนึ่งออกจากราชการตามความเห็นจากรายงานการไต่สวนของ ป.ป.ช. โดยศาลเห็นว่าข้าราชการรายดังกล่าวมิได้กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามที่ ป.ป.ช.กล่าวหาแต่อย่างใด
กระผมขอเรียนว่ายังมีอีกหลายคดีที่ศาลปกครองพิพากษาแตกต่างไปจากความเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นจึงไม่อาจเชื่อได้ว่าทุกคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนั้นจะเป็นจริงตามที่มีการกล่าวหาให้ลงโทษแต่อย่างใด ดังนั้นข้าราชการที่ถูกส่วนราชการมมิได้ไม่ดำเนินการตามมาตรา ๙๙ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นโอกาสในการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาอีกทางหนึ่ง ย่อมเสียโอกาสนั้นๆ ประกอบกับหากมีการตรวจสำนวนรายงานของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับเรื่องคดีสนามฟุตซอลครั้งนี้ จะพบข้อพิรุธบางประการที่ไม่น่าจะเป็นการทุจริตแต่กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงฐานความผิดได้เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้ทำได้ อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการยังมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการลงโทษปลดออกจากราชการแทนที่จะลงโทษไล่ออกจากราชการซึ่งเป็นเสมือนการประหารชีวิตกันในทางราชการทั้งๆที่ยังมีข้อสงสัยอยู่
๑๒. คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่งเป็นนักการเมืองและถูกกล่าวหาจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในความผิดฐานเดียวกันและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุดซึ่งได้รับเรื่องนานแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ชี้มูลความผิด กรณีนี้ถ้าอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าไม่ได้กระทำผิดและมีคำสั่งไม่ฟ้อง ย่อมหมายถึงผลของคดีย่อมตกเป็นผลดีต่อข้าราชการครูที่ถูกกล่าวหาด้วยดังนั้นการสั่งลงโทษไล่ข้าราชการครูออกจากราชการจึงเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมกัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นกระผมจึงขอความเมตตาจาก ฯพณฯ ขอได้โปรด
๑. ใช้สิทธิตามมาตรา ๙๙ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ในการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่ยังไม่ได้รับโทษ ได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงใหม่ต่อ ฯพณฯ เพื่อส่งต่อไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้ง
๒. ขอให้ ฯพณฯ เมตตาข้าราชการที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวด้วยการใช้ระดับโทษเพียง ปลดออก ก็จะเป็นการให้โอกาสข้าราชการเหล่านี้ได้มีกินมีใช้ในการยังชีพ มีทุนรอนในการจ้างทนายความไปต่อสู้คดีในชั้นศาล กระผมขอยืนยันด้วยเกียรติของความเป็นอดีตข้าราชการ ความเป็นนายกสมาคมที่ก่อตั้งมานานมากกว่าสี่สิบปี และเป็นผู้ไปสัมผัสค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองขอยืนยันว่าข้าราชการครูทุกรายที่ถูกกล่าวหาและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ ฯพณฯ นั้น ไม่มีรายใดเป็นผู้ทุจริตต่อหน้าที่ราชการเกี่ยวกับคดีนี้เลย ถ้าจะผิดอย่างมากก็เป็นเพียงผิดระเบียบด้วยเจตนาที่จะให้ได้รับงบประมาณเพื่อให้เด็กๆที่ด้อยโอกาสได้มีโอกาสทัดเทียมกับเด็กๆในเมืองเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเจตนาที่ดี
๓. ข้าราชการที่ได้รับโทษไล่ออกจากราชการไปแล้วและขณะนี้กำลังยื่นอุทธรณ์ จึงขอความเมตตาจาก ฯพณฯ ในฐานะประธาน ก.ค.ศ.และมีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ ขอได้โปรดเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วเป็นกรณีพิเศษและขอได้โปรดลดระดับโทษเป็น “ปลดออกจากราชการ” ให้ด้วย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)
นายกสมาคม โทร ๐๘๓-๒๖๕๒๖๙๓