ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มีแนวคิดในการปรับปรุงการสอบโอเน็ตปีการศึกษา 2563 เนื่องจากเป็นปีที่นักเรียนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสถานศึกษามีการจัดการเรียนการสอนหลายรูปแบบ เช่น สอนผ่านระบบออนไลน์ สอนผ่านระบบโทรทัศน์ดิจิทัล รวมทั้งสลับวันเรียน นั้น
ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส และ ผช.เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ทปอ.ยังไม่ได้รับการติดต่อจากกระทรวงศึกษาธิการ และจากการสอบถามสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ก็ทราบว่า ได้รับมอบหมายจากนายณัฏฐพลให้หาคิดรูปแบบการสอบสำหรับปีนี้ที่เด็กได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 ขณะที่ ทปอ.มีนัดประชุมร่วมกับ สพฐ.ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ ก็จะได้มีการสอบถาม สพฐ.ถึงเรื่องนี้เพื่อความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังไม่มีใครทราบเรื่องนี้ ดังนั้น หาก ทปอ.ยังไม่ได้หนังสือหรือเอกสารใดๆ อย่างเป็นทางการจากกระทรวงศึกษาธิการ ก็คงจะไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด และสุดท้ายแล้วก็คงต้องทำตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ หากบอกว่า จะไม่ให้สอบโอเน็ตแล้ว เราก็ต้องปรับเปลี่ยน เพราะไม่ทราบว่าจะเอาคะแนนโอเน็ตมาจากที่ใด
“โดยหลักการแล้ว ทปอ.ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้นำความตั้งใจเรียนของเด็กมาใช้ ได้แก่ คะแนนจีแพกซ์ และคะแนนโอเน็ต มาเป็นเกณฑ์การสอบคัดเลือก หากมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี และหากปีนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงการสอบโอเน็ต หรือไม่สอบโอเน็ต ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบทีแคส รอบแอดมิชชัน 2 แน่นอน เพราะเกณฑ์การคัดเลือกส่วนใหญ่ใช้คะแนนสอบโอเน็ต ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มีการกำหนดไว้แล้ว” ดร.พีระพงศ์ กล่าวและว่า ส่วนตัวคิดว่า รมว.ศึกษาธิการ คงกำลังเสนอแนวคิดนี้เพื่อหยั่งเสียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนและเมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรนั้น ทปอ.ก็จะรอหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจาก รมว.ศึกษาธิการ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับการสอบโอเน็ตของนักเรียน ม.6 ซึ่งต้องใช้คะแนนโอเน็ตในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยนั้นก็ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย หากใครมีความจำเป็นก็ต้องสอบ ใครไม่จำเป็นก็ไม่ต้องสอบ แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ไม่ได้ใช้โอเน็ตในการเข้าเรียนต่อ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีข้อสรุป ต้องรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งนี้ หากจะยกเลิกการสอบโอเน็ตจริงก็จะต้องเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบก่อน.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 8 กันยายน 2563