เรื่อง พวกผมไม่ได้สร้างความแตกแยก ในเรื่องปัญหาของร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับที่ร่างโดย กอปศ.
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ตามที่ผมได้นำเสนอในสื่อต่างๆว่า รมว.ศธ ได้แจ้งในที่ประชุมการเสวนาเมื่อวันที่ 28สิงหาคม 63 เรื่อง "เหลียวหลังแลหน้า ปฏิรูปการศึกษาไทย " จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยรมว.ศธ ได้แจ้งในที่ประชุมว่าได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับของ กอปศ.และจะไม่มีการประชาพิจารณ์อีก ด้วยเหตุดังกล่าวผมจึงได้แสดงความห่วงใยว่าหากร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะกระทบกับครูทั้งประเทศเพราะเป็นร่างกฎหมายที่ยกเลิกและเปลี่ยนแปลงความสำคัญที่มีอยู่เดิมเช่น “ยกเลิกความเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ยกเลิกตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน” ซึ่งการยกเลิกความสำคัญดังกล่าว นั้นนอกจากจะมีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของครูทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณเจ็ดแสนคน เเล้วยังจะส่งผลให้ครูวิทยะฐานะชำนาญการพิเศษถูกตัดเงินค่าตอบแทนจำนวน 5,600 บาท และต่อมาในวันที่ 1 กันยายน 2563 รมว. ศธ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อเดลินิวส์ ว่า อย่าสร้างความแตกแยก ฯลฯ นั้น ผมขอเรียนว่าหากการสื่อสารของท่าน รมว.ศธ หมายถึงผมนั้น ขอเรียนชี้แจงดังนี้
1. ข้อมูลที่ผมนำเสนอให้บรรดาข้าราชการครูได้ทราบว่าท่าน รมว ศธ ได้เสนอร่าง พรบ การศึกษาแห่งชาติ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะไม่มีการทำประชาพิจารณ์อีกนั้น มีตรงไหนเป็นความเท็จหรือไม่ครับ ประเด็นนี้ก่อให้เกิดการแตกแยกอย่างไรครับ
2 การที่ผมนำเสนอให้บรรดาคุณครูได้ทราบว่า ร่าง พรบ การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ร่างโดย คณะกรรมการอิสระเพื่อ่การปฏิรูปการศึกษา (กอปศ) นั้น ได้ตัดทอนความสำคัญที่เคยมีกำหนดไว้ในกฎหมายการศึกษาที่ใช้บังคับในปัจจุบันและส่งผลกระทบกับครูทั้งประเทศเพราะเป็นร่างกฎหมายที่ยกเลิกและเปลี่ยนแปลงความสำคัญที่มีอยู่เดิมเช่น “ยกเลิกความเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ยกเลิก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ยกเลิก “ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน” ซึ่งการยกเลิกความสำคัญดังกล่าว นั้นนอกจากจะมีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของครูทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณเจ็ดแสนคน แล้วยังจะส่งผลให้ครูวิทยะฐานะชำนาญการพิเศษถูกตัดเงินค่าตอบแทนจำนวน 5,600 บาท นั้น ขอถามว่าที่ผมนำเสนอเช่นนี้มีตรงไหนที่เป็นเท็จบ้างครับ และตรงไหนที่เป็นการสร้างความแตกแยกบ้างครับ บรรดาคุณครูควรได้รับรู้ว่าเกียรติและศักดิ์ศรีที่เคยมีอยู่เดิมรวมถึงสิทธิต่างๆของตนเองที่กำลังจะหายไปจึงต้องออกมาปกป้องนั้น ทำได้หรือไม่ครับ
3. มาตรา 82 แห่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฯฉบับนี้ ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวนี้ประกอบด้วยบุคคลที่ประกอบอาชีพอื่นๆทั้งสิ้นโดยไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพครูแม้แต่คนเดียว ที่สำคัญคืออำนาจหน้าท่ีของคณะกรรมการคณะนี้นั้นให้มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบายด้านการศึกษาต่อรัฐบาล/ให้ความเห็นชอบร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ/เสนอแนะเรื่องการจัดสรรงบประมาณการศึกษา/เสนอแนะแผนอัตรากำลังด้านการศึกษา/ดูแลติดตามการจัดการศึกษาให้เป็นไปตาม พรบ การศึกษาฯ เสนอแนะให้มีการปรับปรุงยกเลิกกฎหมายการศึกษา ฯลฯ อยากทราบว่าคณะกรรมการคณะนี้ทำไมไม่มีข้าราชการครูสักรายเป็นคณะกรรมการคณะนี้ อย่างน้อยก็ไปให้ข้อคิดข้อมูลต่อคณะกรรมการอื่นๆจะได้ไม่เป็นตาบอดคลำช้าง หรือท่านผู้ร่างกฎหมายเห็นว่าผู้ที่เป็นข้าราชการครูทุกรายล้วนเป็นผู้ด้อยด้วยสติปัญญาโง่เขลาจนไม่สามารถแต่งตั้งให้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาได้เลยแม้แต่รายเดียว หากพิจารณาจากวิชาชีพอื่นๆ จะพบว่าคณะกรรมการทั้งระดับนโยบายและระดับบริหารล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรใน วิชาชีพนั้นๆเกือบทั้งหมด
4. ตามที่ท่าน รมว.ศธ กรุณาให้ข้อมูลว่า “คนที่กระจายข้อมูลต้องเข้าใจในกระบวนการเสนอกฎหมาย ร่างนี้ผ่านขั้นตอนกระบวนการทำประชาพิจารณ์มาแล้วรวมถึงยังมีการเสวนาในเรื่องต่างๆอย่างกว้างขวางดังนั้นท่านจึงนำเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นหลัก โดยท่านจะฟังความคิดเห็นของนักเรียนเพิ่มเติม” นั้น ผมขอเรียนถามท่านว่าผลการทำประชาพิจารณ์นั้นเป็นอย่างไร ท่านเคยได้นำเสนอผลการทำประชาพิจารณ์นี้ให้กับบรรดาข้าราชการครูฟังหรือไม่และในส่วนที่บรรดาข้าราชการครูทั้งประเทศเสนอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายฉบับนี้ในประเด็นเรื่องใบประกอบวิชาชีพครูในประเด็นเรื่องความเป็นวิชาชีพชั้นสูงและประเด็นอื่นๆนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามข้อเสนอแนะหรือไม่ครับ คุณครูมีสิทธิที่จะรู้หรือไม่ครับว่าร่างกฎหมายที่ท่านอ้างว่าผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้วนั้น ผลการทำประชาพิจารณ์เป็นอย่างไร ครับ นอกจากนี้การที่ท่านให้ข่าวว่าท่านจะฟังความคิดเห็นของนักเรียนเพิ่มเติม นั้น ก็คงเป็นผลมาจากการที่นักเรียนมาชุมนุมกดดัน ท่านจึงอยากฟังนักเรียน แต่บรรดาคุณครูที่มาเรียนพบท่านด้วยความเรียบร้อย เพื่อเสนอแนะปัญหาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับนี้ ท่านกับไม่ใส่ใจที่จะดำเนินการให้มีการแก้ไข หรือว่าท่านเห็นดีเห็นงามไปกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯนี้ครับ
5. ตามที่ท่านแสดงความคิดเห็นว่า “เรื่องการใช้คำว่าครูใหญ่หรือผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น ตัวท่านเองไม่ได้มองว่าเรื่องนี้คือเรื่องที่จะทำให้การศึกษาพัฒนาไปในวงกว้างหรือทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ยังมีเรื่องอื่นๆในร่างพระราชบัญญัติฯฉบับนี้อีกมากมาย อย่าเอาประเด็นที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษาหรือการพัฒนาการศึกษาและเป็นการสร้างความแตกแยก” และท่านยังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ ฉบับนี้ เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติทั้งๆที่ท่านทราบอยู่แล้วว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีสาระสำคัญหลายประการอันเป็นการหมิ่นเกียรติครู กระทบ ต่อ ขวัญ กำลังใจ และสิทธิประโยชน์ของครู เเละท่าน ยังแจ้งว่าให้ ไป แก้ไข กัน ใน สภา นั้น ผมขอเรียนว่าการทำเช่นนี้พวกผมเสียใจนะครับที่ท่านส่งร่าง พ.ร.บ.ฯ การศึกษาแห่งชาติที่กระทบต่อเกียรติและศักดิ์ศรีของครู เข้าสู่การพิจารณาแล้วโดยให้ไปตายเอาดาบหน้า การทำเช่นนี้ทำให้พวกผมเชื่อว่าท่านเห็นดีเห็นงามไปด้วย ท่านอย่าลืมนะครับว่าผู้ที่มีหน้าท่ีในการขับเคลื่อนการศึกษาในระดับโรงเรียนคือคุณครูและผู้บริหารโรงเรียน ถ้าท่านในฐานะเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศไทยด้านการศึกษาและมีหน้าที่ในการให้ขวัญและกำลังใจกับครูและผู้บริหารโรงเรียน การที่ท่านทำเช่นนี้ท่านอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ทำให้ขวัญและกำลังใจของครูและผู้บริหารโรงเรียนเสียไป ท่านอย่าลืมนะครับ ว่า ท่าน เป็น ผู้บังคับบัญชาของครูทั้งประเทศ และท่านมีหน้าที่ดูแลปกป้องครูสนับสนุนให้ครูมีความก้าวหน้า
ท่านครับ คุณครูทั้งประเทศกำลังจับตาดูว่าจะหาวิธีการอย่างไรให้ท่านรับข้อเสนอของครูไปพิจารณา ในที่สุดพวกเราก็พบวิธีการของเด็กๆที่เคยไปชุมนุมเรียกร้องที่กระทรวงศึกษาธิการ แล้วท่านรับฟัง ท่านใส่ใจและท่านก็ยอมเด็ก คุณครูจึงเห็นแนวทางแล้วจะขอทำอย่างนั้นบ้าง ท่านไม่ต้องห่วงครับว่าข้าราชการครูจะทิ้งเด็กจะทิ้งหน้าที่ราชการไปชุมนุมให้ท่านลงโทษทางวินัย พวกผมบรรดาครูชรา ข้าราชการบำนาญที่รักและห่วงใยการศึกษาของชาติในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศจังหวัดละสามสิบคน จะไปเยี่ยมท่านที่กระทรวงเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง ต่อท่าน และอย่าลืมนะครับว่าพวกผมสามารถเปล่งเสียงยานๆตามวัยว่า “ไปต่อแถว ไปต่อแถว” ได้เหมือนกันนะครับ
รัชชัยย์ ศรสุวรรณ
2 กันยายน 2563