รมว.ศึกษาธิการ เดือด ปมร้อนร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ชี้ อย่าสร้างความแตกแยก เผย ประเด็นใหญ่ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การขับเคลื่อนการศึกษา ยกระดับคุณภาพของผู้เรียน
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ว่า ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการพิจารณาเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งตนต้องขอเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากขณะนี้มีหลายเรื่องที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา อย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เรื่องข้อเรียกร้องที่ตนได้รับฟังจากนักเรียน และเรื่องการพัฒนายกระดับการเรียนการสอนของอาชีวศึกษา ไม่ได้หมายความว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าไปถึงการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะทุกกฎหมายที่มีการนำมาพิจารณา จะมีการพูดคุยและดูถึงความเหมาะสมแน่นอน อีกทั้งเรายังจะต้องให้เกียรติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชนทั่วทั้งประเทศ
“ทั้งนี้กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูล จะมาบอกว่าผมมีอำนาจเหนือตัวแทนของประชาชนนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและผมคิดว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นคนที่เริ่มให้ข้อมูลตรงนี้ควรจะต้องไปดูถึงเจตนารมย์ ว่า ต้องการอะไร ทั้งนี้ผมขอฝากทุกคนให้ทำความเข้าใจกับกระบวนการตรงนี้ ซึ่งผมมั่นใจว่า เราหาทางออกในเรื่องของร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ให้เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กนักเรียนได้อย่างแน่นอน และผมขออนุญาตพูดถึงคนที่ให้ข้อมูล คนที่กระจายข้อมูล ว่า ต้องเข้าใจในกระบวนการเสนอกฎหมาย ในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ผ่านขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์มาแล้ว รวมถึงยังมีการเสวนาในเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวาง ดังนั้นผมจะนำเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นหลัก โดยจะมีความคิดเห็นของผมเพิ่มเติม ผ่านกระบวนการกฎหมายและการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากนักเรียน”รมว.ศธ.กล่าว
ต่อข้อถามว่ามีหลายฝ่ายกังวลเรื่องการใช้คำว่าครูใหญ่ แทน ผู้อำนวยการสถานศึกษา และปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้นั้น นายณัฏฐพล กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับนี้มีข้อที่สำคัญมากเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการศึกษาไทย แต่ประเด็นที่ทุกคนพูดถึง คือ เรื่องว่าจะใช้คำว่าครูใหญ่ หรือ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งหากตนแสดงความคิดเห็น ตนไม่ได้มองว่าเรื่องนี้คือเรื่องที่จะทำให้การศึกษาพัฒนาไปในวงกว้าง หรือทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ยังมีเรื่องอื่นๆ ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อีกมากมาย อย่างเอาประเด็นที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษา หรือการพัฒนาการศึกษา และเป็นการสร้างความแตกแยก ตอนนี้ทั้งครู นักเรียนและผู้บริหาร มีแนวทางที่ชัดเจน ว่า เราต้องการร่วมกันเดินทาง เพื่อพัฒนาการศึกษา ดังนั้นคนที่ให้ข้อมูลตรงนี้ตนคิดว่าต้องกลับไปพิจารณาถึงเหตุผลและแนวทางต่างๆ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ จันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2563