นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ตนได้รับการร้องขอจากผู้บริหารโรงเรียนทั้งสายประถมศึกษาและสายมัธยมศึกษา ในจังหวัดขอนแก่น จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ไปช่วยหาทางเยียวยาแก้คดีเพราะถูกร้านค้าฟ้องและส่งหมายศาลให้โรงเรียนเป็นจำเลยที่ 1 และผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นจำเลย ที่ 2 เพื่อทวงถามให้โรงเรียนชดใช้หนี้อันเกิดจากการสั่งซื้อครุภัณฑ์ให้โรงเรียน โดยมีโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่นโดนหมายศาลเกือบสองร้อยโรงเรียน โรงเรียนในจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมสองร้อยโรงเรียน และยังทราบเพิ่มเติมว่ายังมีโรงเรียนในจังหวัดอุดรธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดกาฬสินธ์ โดยในแต่ละจังหวัดดังกล่าวมีโรงเรียนได้รับหมายศาลจังหวัดละเกือบสองร้อยโรงเรียน ตนจึงเดินทางไปทั้งที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดร้อยเอ็ด ไปรับฟังปัญหาและเสนอแนวทางในการต่อสู้คดี จึงขอนำเสนอเรื่องแบบนี้เป็นอุทาหรณ์และข้อควรระวังสำหรับผู้บริหารโรงเรียน ดังนี้
1. มีบุคคลที่อ้างว่าได้ไปติดต่อร้านค้าต่างๆหลายร้านที่จำหน่าย หลอดไฟฟ้า LED /Smart TVขนาด 52 นิ้ว/เครื่องกรองน้ำ/ฯลฯ ว่าตนได้รับการประสานงานจากกระทรวงพลังงานบ้าง กระทรวงอื่นๆบ้างว่าจะจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียน มากกว่าหนึ่งพันโรงเรียน เป็นงบประมาณโรงเรียนละ ร่วมห้าแสนบาทเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ที่เป็นการประหยัดพลังงานเพื่อจะนำไปทดแทนกับครุภัณฑ์ที่โรงเรียนมีอยู่เดิม โดยจะให้โรงเรียนทำใบสั่งซื้อ และเมื่อร้านค้าได้รับใบสั่งซื้อแล้วให้นำครุภัณฑ์ไปส่งมอบโรงเรียน แล้วให้ร้านค้านำใบสั่งซื้อไปเบิกเงินค่าสินค้าจากกระทรวงพลังงานหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการให้งบประมาณได้เลย นายพลรายนี้มีการเรียกรับผลประโยชน์ล่วงหน้าจากร้านค้า
2. บุคคลดังกล่าวและบริษัทที่เป็นตัวแทนหรือบุคคลที่เป็นตัวแทนได้ติดต่อให้โรงเรียนมาประชุมและแจ้งโรงเรียนว่าโรงเรียนใดมีความประสงค์จะได้ครุภัณฑ์ตามข้อ 1 ให้ทำใบสั่งซื้อได้เลย โดยจัดสรรครุภัณฑ์ให้โรงเรียนประมาณเกือบห้าแสนบาท และในวันรับครุภัณฑ์ ให้โรงเรียนดำเนินการดังนี้
2.1 ตรวจรับและตรวจนับครุภัณฑ์ว่าครบถ้วนหรือไม่ แล้วนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน
2.2ให้โรงเรียนทำใบสั่งซื้อและส่งมอบให้ร้านค้ารวมถึงทำหนังสือมอบอำนาจให้ร้านค้าทำเรื่องเบิกเงินจากส่วนราชการเจ้าของงบประมาณได้เลย โดยที่โรงเรียนไม่ต้องจ่ายเงิน
3. ร้านค้านำครุภัณฑ์ไปส่งให้โรงเรียนทุกโรงเรียนที่ร่วมโครงการ
4.ต่อมา ร้านค้าไม่สามารถนำใบสั่งซื้อไปเบิกจากกระทรวงใดๆได้เพราะถูกหลอก
5 ร้านค้ามีหนังสือทวงถามให้โรงเรียนชดใช้หนี้ค่าสินค้าท่ีซื้อ เกือบทุกโรงเรียนได้รับหนังสือทวงถามมานานเกินหนึ่งปีก็มิได้ชำระค่าสินค้าให้ร้านค้าเพราะเห็นว่าตามเงื่อนไขนั้นโรงเรียนไม่ต้องจ่ายเงิน
6. มีบริษัทนายหน้าที่ส่งบุคคลมาติดต่อโรงเรียนให้เข้าร่วมโครงการและอ้างว่าเป็นตัวแทนร้านค้าแจ้งด้วยวาจาและหนังสือไปที่โรงเรียนว่าโรงเรียนไม่ต้องจ่ายค่าสินค้าก็ได้แต่ให้โรงเรียนออกใบอนุโมทนาบัตรให้กับบริษัทนายหน้า โรงเรียนหลายโรงเรียนก็ออกใบอนุโมทนาบัตรให้บริษัทนายหน้า แต่หลังจากนั้นโรงเรียนก็ยังได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากร้านค้า
การดำเนินการและแนวทางที่ตนเสนอแนะเพื่อต่อสู้คดีรวมถึงปัญหาที่พบ
1. ให้โรงเรียนรายงานเหตุการณ์ไปที่ ผอ.เขตพื้นท่ีการศึกษาและขอให้ ผอ.เขตพื้นท่ีการศึกษาประสานขอให้อัยการเป็นทนายความแก้ต่างคดีให้และควรเตรียมการหาทนายความในการต่อสู้คดีไว้ด้วยเพราะอาจไม่ทันการ
2 ให้โรงเรียนทำหนังสือถึงร้านค้าขอยกเลิกสัญญาซื้อขายนี้เพราะผู้ซื้อสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมการซื้อขายและขอให้ร้านค้ามารับสินค้าคืนไป (รับคืนไปตามสภาพ แม้จะนำไปใช้แล้วจนเสื่อมสภาพแล้วก็ตามก็คืนไปตามนั้น ตามหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้)
3. โรงเรียนที่ได้รับหมายศาลโดยมีผู้ลงนามรับหมายศาล ต้องให้ทนายความยื่นคำให้การต่อศาลภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะแพ้คดี
4. โรงเรียนที่ได้รับหมายศาลโดยที่ไม่ได้ลงนามรับหมายศาลนั้นและบนหน้าแรกของหมายศาลมีคำว่า “ปิดหมาย” สามารถยื่นคำให้การต่อสู้คดีภายในสามสิบวัน
5. ให้โรงเรียนไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโรงพักในท้องที่ของโรงเรียนและร้องทุกข์ไปที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้สืบสวนหาผู้กระทำผิดทางอาญาในเรื่องนี้แต่ไม่ต้องระบุว่าบริษัทใดเป็นผู้ฉ้อโกง ให้ตำรวจไปสืบหาเอาเอง
6. ปัญหาที่พบคือบางจังหวัดมีนักกฎหมายในจังหวัดแนะนำให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับร้านค้าในความผิดฐานฉ้อโกง แต่ตนเห็นต่างเพราะ
6.1 การกล่าวโทษร้านค้าอย่างนั้นอาจทำให้ร้านค้าฟ้องกลับข้อหาแจ้งความเท็จ/หมิ่นประมาท
6. 2 การกล่าวโทษร้านค้าอย่างนั้นเท่ากับเรายอมรับว่านิติกรรมการซื้อขายเป็นกลฉ้อฉล ซึ่งจะทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะกรรม ซึ่งมีอายุความต้องบอกล้างหรือยกเลิกภายในหนึ่งปีนับแต่รู้หรือควรรู้ว่ามีการฉ้อฉล การที่โรงเรียนได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจึงถือว่ารู้ถึงการฉ้อโกงแล้ว และเมื่อรับหนังสือบอกกล่าวทวงถามเกินหนึ่งปีคดีก็จะขาดอายุความในการต่อสู้ในประเด็นเรื่องโมฆียะกรรม
6.3 แนวทางต่อสู้คดีที่ตนเสนอแนะไปคือให้ต่อสู้คดีว่าสำคัญผิดในข้อเท็จจริงคือแหล่งเงินชำระ ซึ่งถือว่าเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ การต่อสู้เช่นนี้จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะกรรม ไม่มีอายุความจะบอกเลิกเมื่อใดก็ได้แม้ว่าจะรับหมายศาลแล้วก็ตามแต่หน้าที่ในการนำสืบเป็นหน้าท่ีของโรงเรียน
7 การที่บริษัทที่อ้างเป็นตัวแทนร้านค้าแจ้งโรงเรียนว่าถ้าโรงเรียนใดไม่ประสงค์ใช้หนี้ให้ร้านค้า ทางร้านค้าก็จะยกหนี้ให้โดยให้ถือว่าเป็นการบริจาคและให้โรงเรียนออกใบอนุโมทนาบัตรให้กับบริษัทที่อ้างเป็นตัวแทน การที่โรงเรียนออกใบอนุโมทนาบัตรเช่นนี้ไม่ได้ทำให้หนี้ระงับไป เพราะเจ้าหนี้คือร้านค้ามิได้เป็นคนแจ้งยกหนี้ให้ การออกใบอนุโมทนาบัตรให้ร้านค้าที่อ้างเป็นตัวแทนจึงทำให้บริษัทนั้นได้ประโยชน์ในการไปลดหย่อนภาษีได้อีก จึงถือว่ามีการหลอกลวงโรงเรียนซ้ำสอง ดังนั้นโรงเรียนต้องรีบไปแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทนั้นๆ มิฉะนั้นตัวผู้อำนวยการโรงเรียนเองจะถูกดำเนินคดีข้อหาปฏิบัติหน้าท่ีโดยมิชอบฯ (มาตรา 157)และฐานความผิดอื่นๆอีกหลายมาตรา
โรงเรียนใดในจังหวัดใดโดนเหตุการณ์แบบนี้ หากประสงค์ให้ตนไปช่วยแนะนำในการต่อสู้คดีขอให้รวมกลุ่มกันแล้วแจ้งให้ ส.บ.ม.ท. หรือตนทราบทางโทรศัพท์ ตนจะเดินทางไปหาถึงที่ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะ ส.บ.ม.ท. รัก/ห่วงใยและยืนเคียงข้างครูเสมอ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาหรือสังกัดใดก็ตาม
รัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายก ส.บ.ม.ท.
โทร 083-2652693
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)