เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ว่า ได้เชิญกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาสร้างความเข้าใจในการเตรียมตัวก่อนเปิดสถานศึกษา ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ซึ่งมาตรการที่ชัดเจนคือโรงเรียนควรมีคณะกรรมการที่จะกำกับดูแลเรื่องโรคติดต่อเป็นการเฉพาะ โดยเป็นผู้แทนทั้งครู ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหารในโรงเรียน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการป้องกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นกังวลคือ กรณีสถานศึกษาเปิดก็ต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งต้องนอนกลางวัน ถ้าผู้ปกครองสามารถรับเด็กไปนอนที่บ้านได้จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้จำนวนนักเรียนที่นอนในโรงเรียนน้อยลง ส่วนกรณีโรงเรียนพักนอน ซึ่งอาจจะแออัดก็มีการเสนอให้กระจายเด็กไปนอนตามห้องเรียนได้ เพื่อเป็นการรักษาระยะห่าง
ด้านนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า สถานรับเลี้ยงเด็กเป็นหนึ่งในกิจการที่ได้รับการผ่อนปรนเปิดให้บริการตามมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในมาตรการการดูแลที่ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ดย.พร้อมด้วย สธ. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สมาคมพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กไทยและภาคีเครือข่าย ได้ร่วมดำเนินการจัดทำมาตรการและคู่มือการป้องกันโควิด-19 ในเด็กปฐมวัยของสถานรับเลี้ยงเด็ก เพื่อเป็นการรองรับและเตรียมความพร้อมในการเปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งการเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดสถานรับเลี้ยงเด็กประกอบด้วย เจ้าของสถานรับเลี้ยงเด็กจะต้องกำหนดจุดคัดกรองและตรวจรับส่งเด็ก จัดเตรียมสถานที่ให้เอื้อต่อการจัดกิจกรรมกลุ่มย่อยของเด็ก ให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับครู บุคลากร และผู้ปกครอง ส่วนครูและผู้ดูแลเด็ก จะต้องเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมและไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ พยายามรักษาการเว้นระยะ และรักษาสุขอนามัยควบคุมการฆ่าเชื้อระหว่างวันในแต่ละจุดให้ถูกต้องเป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
อธิบดี ดย.กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ปกครองต้องให้ความร่วมมือหลีกเลี่ยงพาเด็กไปในพื้นที่เสี่ยง ใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าให้ตนเองและเด็ก ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตตนเอง เด็ก และบุคคลในครอบครัว หากพบมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ จาม น้ำมูกไหล เหนื่อยหอบ ควรปรึกษาแพทย์ และแจ้งต่อสถานรับเลี้ยงเด็กทันที ทั้งนี้ ดย.มีมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และข้อกำหนดในการประเมินเพื่อออกใบอนุญาตให้กับสถานรับเลี้ยงเด็กมาโดยตลอด ซึ่งจะทำให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมและสถานที่ที่ปลอดภัยเหมาะสมกับเด็ก การนำมาตรการและคู่มือการป้องกันโควิด-19 ในเด็กปฐมวัยของสถานรับเลี้ยงเด็กมาใช้ร่วมกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้จะช่วยลดความกังวลใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องกลับไปทำงานและนำบุตรหลานมาฝากไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 13 มิ.ย. 2563
กพฐ.เชิญกรมควบคุมโรคให้ข้อมูลป้องกันโควิด-19ก่อนเปิดเรียน1ก.ค.
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2563 รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกพฐ.ว่า วันนี้ได้เชิญกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข มาสร้างความเข้าใจในการเตรียมเปิดสถานศึกษา ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ซึ่งมาตรการที่ชัดเจนคือ โรงเรียนควรมีคณะกรรมการที่จะกำกับดูแลเรื่องโรคติดต่อเป็นการเฉพาะ โดยเป็นผู้แทนทั้ง ครู ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหารในโรงเรียน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการป้องกัน ซึ่งจากสถานการณ์ขณะนี้ พบว่าประเทศไทยปลอดการติดเชื้อภายในประเทศแล้ว ดังนั้นถ้าโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่แออัด โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะทดลองเปิดก่อนวันที่ 1 ก.ค.ได้ แต่สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนมากยังมีความกังวลอยู่ แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้มีมาตรการป้องกันหลายรูปแบบ ซึ่งโรงเรียนสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมได้
“สิ่งที่เป็นกังวลคือ กรณีสถานศึกษาเปิดก็ต้องมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งจะต้องนอนกลางวัน ถ้าผู้ปกครองสามารถรับเด็กไปนอนที่บ้านได้จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้จำนวนนักเรียนที่นอนในโรงเรียนน้อยลง ส่วนกรณีโรงเรียนพักนอน ซึ่งอาจจะแออัด จึงเสนอให้กระจายเด็กไปนอนตามห้องเรียนได้ เพื่อเป็นการรักษาระยะห่าง”รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 12 มิถุนายน 2563
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.focusnews.in.th