“สะล้อ ซอ ซึง” สามคำนี้มีคำว่า “สะล้อ” และ “ซึง” เท่านั้นที่เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ส่วนคำว่า “ซอ” นั้นหมายถึงการขับร้อง ทั้งสามคำนี้มักถูกใช้เรียกขานรวมกันหมายถึงดนตรีพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ ที่มีท่วงทำนองที่อันไพเราะจากเสียงดนตรีที่ผสมผสานกับคำร้องในภาษาพื้นเมืองได้อย่างมีเสน่ห์
แต่ด้วยความเนิบช้าของท่วงทำนอง ท่าทางการแสดง และเครื่องดนตรีที่ดูเรียบง่าย อาจทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนหันไปสนใจเครื่องดนตรีสมัยใหม่เพราะความเท่ห์และทันสมัย ประกอบกับกระแสความนิยมในตลาดของผู้บริโภค ทำให้ “ดนตรีพื้นบ้าน-พื้นเมือง” นั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนเฒ่าคนแก่ ที่มักจะนำมาเล่นกันเฉพาะในช่วงเทศกาลประเพณีต่างๆ เท่านั้น
แต่สำหรับหรับเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งของ โรงเรียนเมืองแพร่ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ พวกเขากลับมีมุมมองที่ต่างออกไป โดยเห็นว่าเครื่องดนตรีพื้นเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องเล่นเป็นเพลงพื้นเมืองเสมอไป น่าจะประยุกต์และผสมผสานให้มีรูปแบบเหมือนกับดนตรีที่นิยมในปัจจุบันได้
พวกเขาจึงรวมตัวกันในชื่อ “วงดนตรี Me-Easy” ที่นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านประเภทต่างๆ มาประยุกต์เพื่อแสดงร่วมกับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ พร้อมจัดทำ “โครงการดนตรีสร้างสรรค์ พื้นเมืองบ้านเฮา” เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นเมือง โดยได้รับการสนับสนุนจาก โครงการพลังเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์แบ่งปันความสุขจังหวัดแพร่ และ สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายธนภูมิ อยู่คง “เป๊ป” , นายธีรภัทร์ เวียงห้า “ฟลุ๊ก” , นายธนาวุฒิ ไชยปุระ “เตอร์” และ นายอนุวิท ขัดแสนจักร “บิ๊ก” ทั้ง 4 คนเป็นแกนนำและคณะทำงานของโครงการฯ ที่แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความชื่นชอบในเสียงดนตรีวงสตริงที่ล้ำสมัย แต่พวกเขาก็ไม่ทิ้งความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองที่เป็นคนล้านนา จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการผสมผสานอดีตเข้ากับปัจจุบันซึ่งนั่นก็คือการนำเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาผสมผสานให้เกิดความร่วมสมัย
“เดิมทีผมก็ชอบเล่นกีตาร์ แต่พอได้ไปเห็นว่าเครื่องดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่นที่เขาก็สามารถเอามาเล่นกับวงสตริงให้ดูทันสมัยได้ ก็เลยคิดว่าเครื่องดนตรีพื้นบ้านของเราก็น่าจะทำได้เช่นกัน ก็เลยเริ่มต้นจากการเอา กลองป่งโป๊งมาใส่ในดนตรีที่เล่นไปพร้อมกับการเล่นกีตาร์” น้องเป๊ป หัวหน้าวงเล่า
หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดอื่นเข้ามาผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็น “ซึง” ที่เข้ากับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัวเพราะว่ามีคีย์เดียวกันนอกจากนี้ก็มี “สะล้อ” และ “ซอด้วง” รวมไปถึงเครื่องตีอย่าง “ฆ้อง” และ “ฉาบ” รวมถึงเสียงอันเร้าใจจากกลองพื้นบ้านที่มีท่วงทำนองเป็นเอกลักษณ์ อาทิ “กลองปูจา” “กลองสิ้งหม้อง” “กลองมองเซิง” และ “กลองสะบัดชัย” ที่ได้มีการผสมผสานเรื่องของท่วงท่าและลีลาในการตีให้เข้าไปกับทำนองอย่างลงตัวด้วย
“กลองพื้นบ้านของเราสามารถประยุกต์เล่นกับวงสตริงได้ทั้งหมด ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีวิธีการตีที่แตกต่างกันไป แต่กลองเกือบทั้งหมดจะทำหน้าที่ในการให้จังหวะเหมือนกัน โดยส่วนตัวแล้วผมชอบตีกลองสิ้งหม้อง เพราะจังหวะมันสนุกสนานเร้าใจ ส่วนมากจะเอาไปใช้แห่ในงานประเพณีต่างๆ เพราะมันก็คือกลองยาวของภาคกลางนั่นเอง” น้องฟลุ๊ก มือกลองกล่าว
“ซึงสามารถนำมาประยุกต์เล่นกับกีตาร์ได้ มีความแตกต่างตรงเมโลดี้ที่จะเล่นแบบ โด-เร-มี-ฟา-ซอลฯ ส่วนของกีตาร์จะเล่นโน้ตเป็นคอร์ด ถ้าเอาซึงมาประยุกต์ให้มีคอที่จับสายเป็นเหมือนของกีตาร์ แล้วจูนเสียงให้ตรงกัน ก็จะสามารถเล่นด้วยกันได้อย่างสนุก ซึ่งเสียงของซึงจะโดดเด่นมากตอนเล่นโซโล่ แล้วก็เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือของเราด้วย” น้องเตอร์ อธิบาย
“ทุกวันนี้วงของเราจะมีงานแสดงต่างๆ เข้ามาเดือนละ 3-4 งาน ถ้าช่วงเทศกาลก็จะมีงานเข้ามาเยอะหน่อย ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่สนใจวงของเราก็เพราะว่าเป็นวงดนตรีประยุกต์ หลายคนที่เห็นก็ยังงงว่าเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาเล่นกับกีตาร์ได้ด้วยเหรอ” น้องบิ๊ก กล่าว
นายวิโรจน์ คำธิยะ ครูที่ปรึกษาโครงการฯ เล่าว่า จากความสงสัยของเด็กๆ ที่เห็นเครื่องดนตรีของญี่ปุ่นสามารถเล่นผสมผสานกับดนตรีสมัยใหม่ได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นเครื่องดนตรีโบราณ พวกเขาก็เลยลองนำเครื่องดนตรีพื้นบ้านเข้ามาผสมผสาน เพราะจริงๆ แล้วดนตรีนั้นมีความเป็นกลางเหมือนกันทุกประเทศ แต่สิ่งที่ต่างคือเอกลักษณ์และความเป็นตัวตนของชาตินั้นๆ
“โครงการนี้นอกจากพวกเขาจะได้ทักษะในเรื่องของดนตรีพื้นบ้านติดตัวไปแล้ว อีกเรื่องหนึ่งก็คือพวกเขาก็จะมีทักษะอาชีพติดตัวไปพร้อมกัน และยังมีการพัฒนาให้มีการแสดงประกอบการเล่นดนตรีให้มีความสนุกสนานตื่นเต้น ซึ่งระหว่างการแสดงก็จะสามารถถ่ายทอดความรู้และองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านออกไปให้คนได้ชมอีกด้วย ทุกวันนี้วงดนตรีของพวกเขามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเกือบ 20 คน ดนตรีพื้นบ้านสำหรับเด็กๆ กลุ่มนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการอนุรักษ์ แต่ดนตรีเป็นวิถีชีวิต ที่สามารถพัฒนาเป็นทักษะอาชีพสร้างรายได้ให้พวกเขาได้ในอนาคต”
ปัจจุบันนอกจากวงดนตรีของโรงเรียนแห่งนี้จะถูกรับเชิญให้ไปแสดงในงานต่างๆ แล้ว พวกเขายังแสดงพลัง “จิตอาสา” ในการที่จะสืบสานวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน ด้วยการเข้าไป “ตีกลองปูจา(บูชา)” ที่ วัดพระธาตุช่อแฮ และ วัดป่าแดง ในทุกๆ “วันโกน” รวมไปถึงไปแสดงโชว์ประกอบการตีกลองให้กับนักท่องเที่ยวที่มาไหว้พระที่วัดพระธาตุช่อแฮได้รับชม
ซึ่งการตีกลองปูจานั้นเป็นการตีกลองเพื่อบอกวันพระ-วันโกน กล่าวคือเป็นการตีเพื่อเตือนให้ชาวบ้านรู้ว่าพรุ่งนี้จะถึงวันพระ ให้เตรียมตัวมาทำบุญตักบาตร ถือศีลภาวนา ซึ่งการตีกลองแบบนี้ได้เลือนหายจากหลายๆ ชุมชนในภาคเหนือเพราะขาดการสืบสานและถ่ายทอด
ดนตรีพื้นบ้านของนักเรียนโรงเรียนเมืองแพร่ในวันนี้จึงไม่ได้เป็นแค่ของเก่าที่ควรอนุรักษ์ เพราะพวกเขาเอามาประยุกต์และผสมผสานกับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ ให้กลายเป็น ดนตรีพื้นบ้านที่ “ร่วมสมัย” ที่สามารถช่วยสืบสานวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือทักษะชีวิตที่จะติดตัวไปกับพวกเขาไปตลอด ที่พร้อมจะกลายเป็นทักษะอาชีพได้ทันทีที่พวกเขาต้องการ.