การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ของนักศึกษาโดยการจัดการเรียนแบบร่วมมือแบบ เอส ที เอ ดี (STAD)
The Study of Students’ Learning Achievement and Science Process Skills
by Cooperative Learning with Student Teams Achievement Division (STAD)
อานง ใจแน่น
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ลำปาง
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ของนักศึกษาปริญญาตรีในรายวิชาเคมีวิเคราะห์อาหาร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักศึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง ระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 โรงเรียนการเรือน สาขาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาเคมีวิเคราะห์อาหาร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 17 คน ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง โดยนำแผนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ที่ที่เน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติด้วยกระบวนการกลุ่ม ไปใช้กับนักศึกษาจำนวน 3 แผน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน 2562 ซึ่งประเมินจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมีวิเคราะห์อาหาร ประกอบด้วยความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ และการประเมินความพึงพอใจใน
กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ซึ่งจากการศึกษาในครั้งนี้ผู้สอนได้พัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาเคมีวิเคราะห์อาหารให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์อาหารหลากหลายวิธีไปวิเคราะห์อาหารแต่ละประเภทได้ ประยุกต์องค์ความรู้ไปสู่การวิจัยและพัฒนาด้านอาหาร
คำสำคัญ : ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน, ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์, STAD
Abstract
The purpose of this article is to study the academic achievement and scientific process skills using STAD technique of undergraduate students in the course of food chemistry analysis.The sample group used in the research was second-year students of Culinary Technology and Services of Suan Dusit University, Lampang Center in the first semester of the academic year 2019, consisting of 17people selected from the purposive sample by implementing a collaborative learning management plan with STAD techniques applied to the students for 3 plans from August - November 2019, which is evaluated from the academic achievement in the course of food chemistry analysis consisting of knowledge and scientific skills and evaluating satisfaction in cooperative learning activities using STAD techniques. In this study, the instructors have developed a learning management plan in the course of food chemistry analysis courses for better learning achievement which leads to understanding in various food analysis methods to analyze each type of food and can apply knowledge to food research and development.
Keywords: Learning Achievement, Science Process Skills, Student Teams Achievement Division (STAD)
*ผู้ประสานงาน อานง ใจแน่น
Email: noi.boy@hotmail.com
บทนำ
กระบวนการวิทยาศาสตร์มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจึงมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน และการสื่อสารข้อมูลต่างๆ รวดเร็ว สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและไมมีข้อจำกัด ตลอดจนผลผลิตต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและงานอาชีพต่างๆ เครื่องมือใช้ ตลอดจนผลิตต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกในชีวิตและการทำงานล้วนเป็นผลของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น การใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้ เกิดผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ที่แปลกใหม่ และมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เป็นการพัฒนาผู้เรียนให้ได้รับความรู้ กระบวนการและเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ การได้รับการสงเสริม กระตุ้นให้สนใจเรียนวิทยาศาสตร์ มีความสงสัยเกิดคำถามเกี่ยวกับโลกธรรมชาติรอบตัว มีความมุ่งมั่น และมีความสุขที่จะศึกษาค้นคว้า สืบเสาะหาความรู้ เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผลนำไปสู่คำตอบของคำถาม สามารถสื่อสารคำถาม คำตอบ ข้อมูล และสิ่งที่ค้นพบจากการเรียนรู้ให้ผู้อื่นเข้าใจได้ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2545)
การจัดการเรียนการสอนในรายวิชาเคมีวิเคราะห์อาหาร ส่วนมากกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนเป็นส่วนในภาระหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอนประจำรายวิชาและมีความจำเป็นที่จะให้นักศึกษาได้ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำความรู้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ไปใช้ การลงมือปฏิบัติทางเคมีวิเคราะห์อาหาร เพื่อเป็นการส่งเสริมทักษะในการเรียนให้กับนักศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น จนสามารถที่จะนำไปวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหาร ซึ่งทักษะการเรียนรู้แบบนี้สามารถฝึกฝนได้จากการเรียนในทฤษฎีและจากการลงมือปฏิบัติจริง เป็นการสอดคล้องกับกระบวนการวิทยาศาสตร์มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยสรุปคือจะทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (science process skill) เริ่มตั้งแต่ความสามารถ และความชำนาญในการค้นหาความรู้ และการแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นทักษะสำคัญที่แสดงถึงการมีกระบวนการคิด อย่างมีเหตุ มีผลตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการสืบเสาะหาความรู้ ผู้ปฏิบัติเกิดความเข้าใจในเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาในการวิจัยประกอบด้วยทักษะ 6 ทักษะ ได้แก่ ทักษะการสังเกต ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการลงความคิดเห็นข้อมูล ทักษะการตีความหมายข้อมูลและลงข้อสรุป ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล ทักษะการทดลอง จนสามารถที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งานได้ ซึ่งจากการวิจัยนี้จะทำให้นักศึกษามีความเข้าใจในการวิเคราะห์อาหารได้หลากหลายวิธีจนเกิดผลการวิเคราะห์ที่เป็นน่าเชื่อถือ เพื่อให้การทำหน้าที่ของอาจารย์เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ในรายวิชาเคมีวิเคราะห์อาหารหลักสูตรได้พบปัญหานักศึกษาขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักการ วิธีการ และขั้นตอนในการวิเคราะห์อาหาร ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้จัดการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ซึ่ง ที่มีชื่อเต็มว่า Student Teams Achievement Divisions เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน โดยการแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ร่วม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้บรรลุถึงเป้าหมายการเรียนรู้ เสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล มีการให้กำลังใจกระตุ้นและส่งเสริมนักศึกษาทุกคน ให้มีความรู้ความเข้าใจในบทเรียน เพื่อทำจะทำคะแนนได้ดี ส่งผลให้นักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังสูงกว่าก่อนเรียนในการศึกษา โดยมีความมุ่งหวังว่าผู้เรียนจะมีพื้นฐานทางการเรียนที่ดีและสามารถพัฒนาได้ต่อเนื่องในระดับชั้นที่สูงขึ้นและเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมนักศึกษาก้าวสู่รายวิชาวิจัยและพัฒนาอาหารต่อไป
เนื้อเรื่อง
การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในรายวิชาเคมีวิเคราะห์อาหาร ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD เป็นกระบวนการเรียนการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถจัดกิจกรรมนักศึกษาออกมาเป็นกลุ่ม ซึ่งในการแบ่งกลุ่มนักศึกษามีความหลากหลายความสามารถที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่มผู้เรียนโดยใน 1กลุ่มจะประกอบไปด้วยนักศึกษาที่เรียนเก่ง 1 คนผู้เรียนที่เรียนปานกลาง 2-3 คน และผู้เรียนที่เรียนอ่อน 1 คน ซึ่งมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นนำเสนอเนื้อหา 2) ขั้นปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม 3) ขั้นทดสอบย่อย 4) ขั้นคิดคะแนนความก้าวหน้าแต่ละคน และของกลุ่มย่อย 5) ขั้นชมเชย ยกย่อง บุคคลหรือกลุ่มที่มีคะแนนยอดเยี่ยม
ประเด็นที่ 1 เทคนิคการเรียนรู้แบบร่วมมือรูปแบบ STAD การเรียนแบบร่วมมือแบบแรกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นที่ Johns Hopkins University โดย (Slavin, 1995) ในกิจกรรมการเรียนแบบ STAD มีส่วนประกอบดังนี้
ประเด็นย่อย 1.1 ส่วนประกอบของกิจกรรมการเรียนแบบ STAD มีส่วนประกอบพื้นฐานที่สำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ
1. กลุ่มหรือทีม (Student Teams) กลุ่มผู้เรียนในกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยเทคนิค STAD นั้น ในแต่ละกลุ่มหรือทีม จะมีสมาชิก 4-5 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง ปานกลางและต่ำ ผู้เรียนที่มีผิวขาว ผิวดำ ต่างชาติและต่างเพศ สมาชิกในแต่ละกลุ่มหรือทีมจะต้องร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการเรียน เพื่อที่จะให้แต่ละคนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน ในแต่ละกลุ่มหรือทีมจะต้องเตรียมสมาชิกประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คะแนนที่แต่ละคนทำได้จะถูกแปลงให้เป็นคะแนนของแต่ละกลุ่ม โดยใช้ระบบผลสัมฤทธิ์ จากนั้นนำคะแนนที่ได้มารวมกันเพื่อเป็นคะแนนของกลุ่มหรือข่าว หรือทีม ในแต่ละสัปดาห์จะมีการประกาศผลทีมที่ได้คะแนนสูงสุดในลักษณะของจดหมายข่าว (Newsletter) สมาชิกภายในกลุ่มหรือทีมจะร่วมมือกันในการทำงานเพื่อที่จะแข่งขันกับกลุ่มหรือทีมอื่น บรรดล ภูบานเช้า (2552): 98)
2. ระบบกลุ่มสัมฤทธิ์ (Achievement Divisions) ระบบกลุ่มสัมฤทธิ์เป็นวิธีทางที่จะช่วยให้เด็กทุกระดับความสามารถทางการเรียนสามารถที่จะทำคะแนนได้สูงสุดเต็มความสามารถของตนเอง ระบบกลุ่มสัมฤทธิ์จะเริ่มจากการนำคะแนนทดสอบของครั้งที่ผ่านมาของผู้เรียนทุกคน มาเรียงลำดับจากคะแนนมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ผู้เรียนที่ได้คะแนนสูงสุด 6 คนแรก จะถือได้ว่าเป็นกลุ่มผลสัมฤทธิ์ที่ 1 (Divisions 1) ผู้เรียนที่ได้คะแนนรองลงไปอีก 6 คน จะถือว่าเป็นกลุ่มสัมฤทธิ์ที่ 2 (Divisions2) เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ระบบกลุ่มสัมฤทธิ์นี้จะใช้สำหรับคะแนนการทดสอบที่ผู้เรียนแต่ละคน ได้รับจากการทดสอบแต่ละครั้งให้เป็นคะแนนของกลุ่มหรือทีมของตน โดยการแปลงคะแนนนี้จะพิจารณาของผู้เรียนในแต่ละกลุ่มสัมฤทธิ์ (Achievement Divisions) โดยผู้เรียนได้คะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มสัมฤทธิ์จะได้รับคะแนนสำหรับกลุ่มหรือทีมของตนอยู่ 8 คะแนน ผู้เรียนที่ได้เป็นอันดับสองของแต่ละกลุ่มสัมฤทธิ์จะได้คะแนนสำหรับกลุ่มหรือทีมของตนเท่ากับ 6 คะแนน ส่วนผู้เรียนที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 3 ของแต่ละกลุ่มสัมฤทธิ์ จะได้คะแนนสำหรับกลุ่มหรือทีมของตนเท่ากับ 4 คะแนน และผู้เรียนที่ได้อันดับที่ 4, 5 และ 6 ของแต่ละกลุ่มสัมฤทธิ์ จะได้รับคะแนนสำหรับกลุ่มหรือทีมของตน เท่ากับ 2 คะแนน การแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มสัมฤทธิ์นี้ ผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงก็แข่งขันกับผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงเช่นเดียวกัน ผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ระดับปานกลางแข่งกับผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ระดับปานกลาง ส่วนผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำก็จะแข่งขันอยู่ในระดับเดียวกันเท่านั้น วิธีการเช่นนี้จะพบว่า ผู้เรียนที่มีความสามารถใกล้เคียงกันจะแข่งขันกันเท่านั้น การแข่งขันจะไม่ใช่การแข่งขันระหว่างผู้เรียนทุกคนในห้องเรียนเดียวกัน ดังนั้นการนำระบบผลสัมฤทธิ์เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนแต่ละระดับความสามารถ ได้กระทำกิจกรรมเต็มที่ตามความสามารถของตนในการทดสอบนั้น บางครั้งสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มผลสัมฤทธิ์ต่ำ มีคะแนนที่สามารถอยู่ในกลุ่มผลสัมฤทธิ์ที่สูงกว่าได้ เช่น ผู้เรียนที่ได้อันดับที่ต้นๆ ของกลุ่มสัมฤทธิ์ที่ 2 อาจจะได้คะแนนมากกว่าผู้เรียนที่ได้อันดับท้ายๆ ของกลุ่มสัมฤทธิ์ที่ 1 เป็นต้น ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นสัมฤทธิ์ในการสอบครั้งต่อไปจะต้องถูกจัดใหม่ โดยการนำคะแนนที่ได้จากการสอบครั้งล่าสุดมาเรียงลำดับจากคะแนนมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มสัมฤทธิ์โดยใช้วิธีการและหลักการเช่นเดิม จะเห็นได้ว่ากลุ่มสัมฤทธิ์นี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเพื่อที่จะให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเท่ากันหรือใกล้เคียงกันได้แข่งขันซึ่งกันและกัน
ประเด็นที่ 2 เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนแบบ STAD สิ่งที่อาจารย์ต้องตระหนักถึง เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้กิจกรรมการเรียนแบบ STAD มีดังนี้
1. เป้าหมายของกลุ่ม (Group Goal) เงื่อนไขนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เรียน ทั้งนี้เพราะกลุ่มจำเป็นต้องให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มได้ทราบเป้าหมายของกลุ่มในการร่วมมือกันทำงาน ถ้าปราศจากเงื่อนไขข้อนี้งานจะสำเร็จไม่ได้เลย
2. ความรับผิดชอบต่อตนเอง (Individual Accountability) สมาชิกในกลุ่มทุกคนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองเท่าๆ กับรับผิดชอบกลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มจะได้รับการชมเชยหรือได้รับคะแนน ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากคะแนนรายบุคคลของสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งจะนำไปแปลงเป็นคะแนนของกลุ่มโดยใช้ระบบกลุ่ม “สัมฤทธิ์” นั่นเอง การเรียนของผู้เรียนที่เรียนโดยการทำกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ STAD กล่าวคือ เป้าหมายของกลุ่มให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะช่วยเหลือสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม ให้เรียนรู้ได้เหมือนตน ถ้าปราศจากเป้าหมายของกลุ่ม ผู้เรียนก็จะทำงานผิดจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ดังนั้นผู้เรียนจึงต้องทราบเป้าหมายของกลุ่มเพื่อความสำเร็จในการเรียน ยิ่งไปกว่านั้นเป้าหมายของกลุ่มอาจจะช่วยให้ผู้เรียนผ่านพ้นความลังเล ไม่แน่ใจในการที่จะตั้งคำถาม ถามครู ซึ่งถ้าปราศจากข้อนี้ผู้เรียนจะไม่กล้าถาม
ประเด็นที่ 3 กนกวรรณ วีระรัตนนุสรณ์. 2560:31-42.ได้กล่าวว่าองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนการสอนแบบร่วมมือ (STAD) ในการเรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนแบบ STAD นั้นสมาชิกในกลุ่มทุกคนต้องปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน 5 ประการดังต่อไปนี้
1. การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเชิงบวก (Positive Interdependent) ผู้เรียนจะรู้สึกว่าตนจำเป็นจะต้องอาศัยผู้อื่น ในการที่จะทำงานกลุ่มให้สำเร็จ กล่าวคือ “ร่วมเป็นร่วมตาย” วิธีการที่จะทำให้เกิดความรู้สึกแบบนี้ อาจจะทำได้โดยให้มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน เช่น ถ้าผู้เรียนทำคะแนนกลุ่มได้สูง แต่ละคนจะได้รับรางวัลร่วมกันประเด็นที่สำคัญคือ สมาชิกทุกคนในกลุ่มจะต้องทำงานกลุ่มให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จนี้จะขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกทุกคน จะไม่มีการยอมรับความสำคัญหรือความสามารถของบุคคลเพียงคนเดียว
2. การติดต่อสัมพันธ์โดยตรง (Face to Face Primitive Interaction) เนื่องจากการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเชิงบวก มิใช่จะทำให้เกิดผลอย่างปาฏิหาริย์ แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันนั้น จะต้องมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกได้เสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อเลือกสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม
3. การรับผิดชอบงานของกลุ่ม (Individual Accountability at Group Work)การเรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนแบบ STAD จะถือว่าไม่สำเร็จจนกว่าสมาชิกทุกคนในกลุ่มจะได้เรียนรู้เรื่องในบทเรียนได้ทุกคน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องวัดผลการเรียนของแต่ละคน เพื่อให้ สมาชิกในกลุ่มได้ช่วยเหลือเพื่อนที่เรียนไม่เก่ง บางทีครูอาจจะใช้วิธีทดสอบสมาชิกในกลุ่มเป็นรายบุคคลหรือสุ่มเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งในกลุ่มเป็นผู้ตอบ ซึ่งกลุ่มจะต้องช่วยกันเรียนรู้และช่วยกันทำงาน มีความรับผิดชอบงานของตนเป็นพื้นฐานซึ่งทุกคนจะต้องเข้าใจ และรู้แจ้งในงานที่ตนรับผิดชอบอันจะก่อให้เกิดผลสำเร็จตามมา
4. ทักษะในความสัมพันธ์กับกลุ่มเล็กและผู้อื่น (Social Skills) ผู้เรียนทุกคนไม่ได้มาโรงเรียนพร้อมกับทักษะในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะช่วยผู้เรียนในการสื่อสารการเป็นผู้นำ การไว้ใจผู้อื่น การตัดสินใจ การแก้ปัญหาความขัดแย้งครูควรแจ้งสถานการณ์ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะมนุษย์สัมพันธ์เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นครูควรสอนทักษะและมีการประเมินการทำงานของกลุ่มผู้เรียนด้วย การที่จัดผู้เรียนที่ขาดทักษะในการทำงานกลุ่มมาทำงานร่วมกัน จะทำให้การทำงานนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะกิจกรรมการเรียนแบบ STAD ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงการที่จัดให้ผู้เรียนมานั่งทำงานเป็นกลุ่มเท่านั้น ซึ่งจุดนี้เป็นหลักการหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนที่เรียนโดยการใช้กิจกรรมการเรียนแบบ STAD แตกต่างจากการเรียนเป็นกลุ่มแบบเดิมที่เคยใช้กันมานาน
5. กระบวนการกลุ่ม (Group Processing) กระบวนการกลุ่ม หมายถึง การให้ผู้เรียนมีเวลาและใช้กระบวนการในการวิเคราะห์ว่ากลุ่มทำงานได้เพียงใด และสามารถใช้ทักษะสังคมและมนุษย์สัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสมกับกระบวนการกลุ่มนี้ช่วยให้สมาชิกในกลุ่มทำงานได้ผลสามารถจัดกระบวนการกลุ่ม และสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวของพวกเขาเอง ทั้งนี้ข้อมูลย้อนกลับจากครูหรือเพื่อนผู้เรียนที่เป็นผู้สังเกต จะช่วยให้กลุ่มดำเนินการได้เป็นอย่างดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเด็นที่ 4 สาเหตุที่วิธีการเรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนแบบ STAD ได้ผล
1. ผู้เรียนที่เก่งเข้าใจคำสอนของครูได้ดี จะเปลี่ยนคำสอนของครูเป็นภาษาพูดของผู้เรียน อธิบายให้เพื่อนฟังได้และทำให้เพื่อนเข้าใจได้ดีขึ้น
2. ผู้เรียนที่ทำหน้าที่อธิบายบทเรียนให้เพื่อนฟัง จะเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้นซึ่งครูทุกคนทราบข้อนี้ดี คือยิ่งสอนยิ่งเข้าใจในบทเรียนที่ตนสอนได้ดียิ่งขึ้น
3. การสอนเพื่อนที่จะเป็นการสอนแบบตัวต่อตัว ทำให้ผู้เรียนได้รับการเอาใจใส่และมีความสนใจมากยิ่งขึ้น
4. ผู้เรียนทุกคนต่างก็พยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะคะแนนของสมาชิกในกลุ่มทุกคน จะถูกนำไปแปลงเป็นคะแนนของกลุ่มโดยใช้ระบบกลุ่มสัมฤทธิ์
5. ผู้เรียนทุกคนเข้าใจดีว่า คะแนนของตนมีส่วนช่วยเพิ่มหรือลดคะแนนของกลุ่ม ดังนั้นทุกคนต้องพยายามอย่างเต็มที่ จะคอยอาศัยเพื่อนอย่างเดียวไม่ได้
6. ผู้เรียนมีโอกาสฝึกทักษะทางสังคม มีเพื่อนร่วมกลุ่มและเรียนรู้วิธีการทำงานเป็นกลุ่ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก เมื่อเข้าสู่ระบบการทำงานอันแท้จริง
7. ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการกลุ่ม เพราะในการปฏิบัติงานร่วมกันนั้น ก็ต้องมีการทบทวนกระบวนการทำงานของกลุ่ม เพื่อให้ประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานหรือคะแนนของกลุ่มดีขึ้น
8. ผู้เรียนเก่งจะมีบทบาททางสังคมในชั้นมากขึ้น เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้เรียนหรือหลบไปท่องหนังสือเฉพาะตน เพราะเขาต้องมีหน้าที่ต่อสังคมด้วย
9. ในการตอบคำถามในห้องเรียน หากตอบผิดเพื่อนจะหัวเราะ แต่เมื่อทำงานเป็นกลุ่มผู้เรียนจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ้าหากตอบผิดก็ถือว่าผิดทั้งกลุ่ม คนอื่นๆ อาจจะให้ความช่วยเหลือบ้าง ทำให้ผู้เรียนในกลุ่มมีความผูกพันกันมากขึ้น
ประเด็นที่ 5 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ หมายถึง ความสามารถของผู้เรียนในด้านความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำความรู้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ไปใช้ และทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ โดยการวัดจากคะแนนที่ผู้เรียนได้รับจาการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง กรด – เบส ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นโดยวัดจากพฤติกรรมของผู้เรียน 4 ด้าน ดังนี้
1. ด้านความรู้ - ความจำ หมายถึง ความสามารถในการระลึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้วเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง ความคิดรวบยอด หลักการ กก และทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์
2. ด้านความเข้าใจ หมายถึง ความสามารถในการจำแนกความรู้ได้เมื่อปรากฏอยู่ในรูปใหม่ และความสามารถในการแปลความรู้จากสัญลักษณ์หนึ่งไปอีกสัญลักษณ์หนึ่ง
3. ด้านการนำความรู้ไปใช้ หมายถึง ความสามารถในการนำความรูและวิธีการต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ หรือจากที่แตกต่างไปจากที่เคยเรียนรู้มาแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
4. ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (science process skill) หมายถึง ความสามารถ และความชำนาญในการค้นหาความรู้ และการแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นทักษะสำคัญที่แสดงถึงการมีกระบวนการคิด อย่างมีเหตุ มีผลตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการสืบเสาะหาความรู้ ผู้ปฏิบัติเกิดความเข้าใจในเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาในการวิจัยประกอบด้วยทักษะ 6 ทักษะ ได้แก่ ทักษะการสังเกต ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการลงความคิดเห็นข้อมูล ทักษะการตีความหมายข้อมูลและลงข้อสรุป ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล ทักษะการทดลอง
บทสรุป
การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือสำหรับนักศึกษามีความสำคัญในการร่วมมือในการเรียนรู้ที่เน้นให้เรียนเป็นกลุ่มและระบบกลุ่มสัมฤทธิ์ เป็นวิธีทางที่จะช่วยให้เด็กทุกระดับความสามารถทางการเรียนสามารถที่จะทำคะแนนได้สูงสุดเต็มความสามารถของตนเอง โดยจะวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทางด้านความสามารถของผู้เรียนในด้านความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำความรู้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับรายวิชาอื่น ๆ ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการเน้นการทำงานเป็นกลุ่มร่วมมือร่วมใจในการศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติงานจริงส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยมุ่งหวังนักศึกษาจะมีพื้นฐานทางการเรียนที่ดีขึ้นและสามารถพัฒนาได้ต่อเนื่องในระดับชั้นที่สูงขึ้นเป็นการเตรียมพร้อมนักศึกษาก้าวสู่รายวิชาวิจัยและพัฒนาอาหาร
อ้างอิง
กนกวรรณ วีระรัตนนุสรณ์. (2560). การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษารายวิชาการเงินธุรกิจโดยการจัดการเรียนแบบร่วมมือแบบเอส ที เอ ดี (STAD). วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์
3 (2), 31-42.
กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). คู่มือหนังสือกิจกรรมวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ช่วงชั้นที่ 2 ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 – 6. กรุงเทพฯ: คุรุสภา
บรรดล ภูบานเช้า. (2552). การเปรียบเทียบผลการเรียนวิทยาศาสตร์โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือตามเทคนิค STAD การเรียนรู้ร่วมกัน (LT) และการเรียนแบบปกติวิทยานิพนธ์ กศ.ม. มหาสารคาม
Stavin, R.E., (1995). Cooperative Learning Theory, Research and Practice. Needham Heights, MA: Simon and Schuster.
ผู้เขียน
นางสาวอานง ใจแน่น
อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีอาหารและการบริการ
สังกัดโรงเรียนการเรือน ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง
Email: noi.boy@hotmail.com