‘มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์’ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และกระทรวงการอุดมศึกษา พัฒนาแผนงานวิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์ แก้ปัญหาประเทศ ในการพัฒนาทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง การท่องเที่ยวและสาธารณสุข คาดส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ หนุนเพิ่มจํานวนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ดิจิทัล ดันรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงชุมชนในท้องถิ่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เล็งเห็นว่าถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ที่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลและมีบทบาทอย่างมากในการดำเนินชีวิต ซึ่งต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้และมีทักษะที่จําเป็นสำหรับการพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ และการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำแผนงาน ‘วิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรม สําหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์’ ใช้องค์ความรู้ความสามารถในการสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการของคณาจารย์ และเครื่องมืออุปกรณ์และระบบงานทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ สนับสนุนการพัฒนาทั้งในด้านทรัพยากรมนุษย์ ให้มีทักษะและสมรรถนะด้านดิจิทัล การศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ ในการพัฒนาทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง การท่องเที่ยวและสาธารณสุข โดยร่วมมือทางด้านวิชาการกับ Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สำหรับแผนงาน ‘วิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรม สําหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์’ ถือเป็นเป็นมิติใหม่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่รวบรวมบุคลากรที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะคณาจารย์และนักวิจัย ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในด้านคณิตศาสตร์ สถิติ คอมพิวเตอร์ การแพทย์ ระบาดวิทยาและสาธารณสุข ซึ่งมีอยู่มากกว่า 50 คนในทุกวิทยาเขต ร่วมเป็นหลักในการดำเนินการตามแผน เพื่อตอบโจทย์ที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น วิทยาเขตปัตตานีจะตอบโจทย์ด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมและปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มีแผนงานนำ Internet of Things (IoT) และ Digital Science ไปช่วยพัฒนาด้านการเกษตรที่ทุ่งไสไช วิทยาเขตภูเก็ตเป็นเรื่องด้านการท่องเที่ยวและ Digital Science และ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นเรื่องสุขภาพและการแพทย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้งบประมาณในโครงการพลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาของประเทศไทย หรือ Reinventing University ใน 3 โครงการคือ 1.โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์ดิจิทัล ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโทและเอก หลักสูตร non degree การเสริมทักษะใหม่ การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่หรือการฝึกทักษะที่จำเป็น 2.โครงการดิจิทัลทวินเพื่อการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ศึกษาระหว่างบริบทของการท่องเที่ยว ในลักษณะของ Digital หาความแตกต่างระหว่างการค้นคว้าหาข้อมูลในเว็บไซต์กับสิ่งที่เป็นจริง และ 3.โครงการการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นการพัฒนาทุ่งไสไช อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ภายหลังดำเนินโครงการผ่านไปแล้ว 1 ปี หากผลดำเนินการโครงการ ประสบความสำเร็จก็จะได้รับการสนับสนุนในปีที่ 2-3 ต่อไป
สำหรับแผนงาน ‘วิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรม สําหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์’ หากประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคใต้ อาทิ การเพิ่มจํานวนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ดิจิทัลที่สามารถทําการวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างความรู้เพื่อแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นไปถึงระดับชาติและนานาชาติ การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงชุมชนท้องถิ่น การยกระดับองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประยุกต์ จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการบริหารจัดการสมัยใหม่ และการวางระบบบริการทางการแพทย์ปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น