นายกฯ เผยไทม์ไลน์เปิดภาคเรียน 1.ก.ค จบการศึกษาช้าสุด 15 พ.ค. 64 ชี้หากโควิดยังไม่คลี่คลายให้สถานศึกษาเตรียมแผนสอนผ่านออนไลน์ หนุนงบฯครูติดตามเยี่ยมบ้านนักเรียน
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า วันนี้ตนได้แจกหนังสือให้กับ ครม. ชื่อว่า "โลกเปลี่ยนคนปรับหลุดจากกับดักขยับสู่ความยั่งยืน" เขียนโดยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเตรียมปรับให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราคือมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ซึ่งเดิมไม่มีสถานการณ์โควิด-19 แต่ตอนนี้ต้องปรับให้สิดคล้องกับ สถานการณ์โควิด-19 ด้วย เพราะวันนี้ทั้งโลกเปลี่ยนไป
พล.อ.ประยุทธ์ ยังถึงการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ว่า หากสถานการณ์คลี่คลายแบบนี้ ให้เริ่มนับเวลาเรียนตั้งแต่ 1 ก.ค แต่หากนับเวลาแล้วไม่เพียงพอให้สถานศึกษาไปบริหารจัดการเปิดการสอนชดเชยให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียน แต่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละชั้นเรียน
ซึ่งหากจะกำหนดการเรียน-การสอนผ่านระบบทางไกลให้กำหนดตารางสอนให้ชัดเจน เพื่อนำมาใช้นับชั่วโมงการเรียนได้ โดยจะอนุมัติให้สำเร็จการศึกษาวันที่ 9 เม.ย 2564 แต่หากมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ ให้สามารถดำเนินการประเมินผลให้เสร็จสิ้น และอนุมัติสำเร็จการศึกษาภายในวันที่ 15 พ.ค 2564
สำหรับเรื่องของการจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด ได้ให้นำการดำเนินการในระยะที่ 2 ไปปรับปรุง พัฒนาเพื่อดำเนินการในระยะที่ 3 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค.-30 เม.ย. ปี 2564 โดยแบ่งเป็น 2 สถานการณ์
"หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย จำเป็นต้องหาวิธีการในการเรียนการสอนในระดับประถมวัย-มัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ดิจิตอล ดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ไอพีทีวี 15 ช่อง และหาวิธีการอื่นๆที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีนี้ย้ำว่าหากยังไม่คลี่คลาย แต่ถ้าคลี่คลายก็ถือว่าจบไปในประเด็นนี้ ซึ่งระบบเรียนออนไลน์ตอนนี้ถือเป็นช่วงทดสอบระบบ ซึ่งต้องมีอุปสรรคเป็นธรรมดา เพราะเป็นกรณีฉุกเฉินและเร่งด่วน แต่หากสถานการณ์คลี่คลาย การจัดการเรียนการสอนจะเป็นปกติ โดยในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่ 100 เปอร์เซ็น ก็ยังให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม และรองรับในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ โดยต้องได้รับการอนุมัติคณะกรรมศึกษาธิการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการวัดและการประเมินผลต้องร่วมมือกันหลายส่วนและหลายมาตรการ ทั้งการสังเกต สัมภาษณ์ การให้ข้อมูลและการตรวจเยี่ยมบ้าน หรือส่งผลการประเมินผ่านอีเมล เป็นต้น สำหรับกิจกรรมที่เป็นภาระในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในช่วงวิกฤตนี้ ก็ต้องเพิ่มตามการดำเนินงานในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษา ตั้งแต่อนุบาลถึงการจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจ่ายเบี้ยเลี้ยงครู ให้ค่าน้ำมัน ในการติดตามประเมินผลหรือเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งหากจำเป็นต้องทำทุกด้าน
อย่างไรก็ตามยังคงห่วงใยการศึกษาของนักเรียนพิการและด้อยโอกาส โดยจะต้องมีคณะกรรมการที่เกี่ยวมาดำเนินการ อาจจะต้องมีการจ่ายเงินสดให้ผู้ปกครองไปดูแล ซึ่งจะมีการพิจารณาโดยงบประมาณกระทรวงศึกษา.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 3 มิถุนายน 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง