เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) คณะใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมว่า ศธ.ได้เสนอเรื่องให้ ศบค.พิจารณาผ่อนปรนในเรื่องการเปิดโรงเรียน ซึ่งทาง ศบค.ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมและเหตุผลต่างๆ หลายๆ อย่าง
ทั้งนี้ ศบค.ได้มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนในการเปิดเรียน โดยให้นำมาตรการต่าง ๆทั้งหมดไปเผยแพร่ให้โรงเรียนทุกสังกัดทั้งโรงเรียนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น และโรงเรียนสังกัด กทม.ได้ เห็นภาพชัดที่จะเปิดเรียนในช่วงวิกฤตินี้ เพราะหวังว่าการเปิดเรียนที่โรงเรียนจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด จึงให้สถานศึกษาไปพิจารณาดูว่าสามารถทำตามมาตการและแนวทางนี้ได้หรือไม่ โดยมีสาระสำคัญในที่โรงเรียนจะต้องบริหารจัดการ เช่น เรื่องการให้นักเรียนเข้าเรียนแบบเหลื่อมเวลากัน หากโรงเรียนใดมีข้อติดขัดก็ให้นำเสนอกลับมาที่ต้นสังกัดก่อน ว่าจะมีวิธีให้สอดคล้องกับมาตรกา ของ ศบค.นี้อย่างไร หากโรงเรียนสามารถทำตามมาตรการนี้ได้ ศธ.ก็ต้องส่งเรื่องให้ที่ประชุม ศบค.พิจารณาก่อน
"โรงเรียนประเภทใดจะสามารถเปิดเรียนที่โรงเรียนได้เมื่อใดนั้น ผมยังตอบไม่ได้ ซึ่งโรงเรียนที่จะขอเปิดจะต้องนำมาตรการของ ศบค.วันนี้ไปเป็นแนวทางในการเปิดโรงเรียน ขณะนี้ไม่เพียงแต่โรงเรียนนานาชาติที่ขอเปิด โรงเรียนทั่วไปทุกสังกัด รวมถึงโรงเรียนขนาดเล็ก ก็อยากเปิดเรียน ดังนั้น ทางโรงเรียนก็ต้องพิจารณามาตรการนี้ดูก่อนว่าโรงเรียนทำได้ หรือไม่ได้ ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็มีคณะกรรมการสถานศึกษาอยู่แล้ว ก็ให้กรรมการสถานศึกษาประเมินตนเองก่อนว่าสามารถทำตามมาตรการของ ศบค.ได้หรือไม่ หากทำได้ ก็ให้โรงเรียนส่งเรื่องมาที่ต้นสังกัด และศธ.จะนำเรื่องกลับให้ที่ประชุม ศบค. พิจารณาภาพรวมในการเปิดเรียนอีกครั้ง"
รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ได้มีมาตรกาผ่อนปรนให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสอบตำแหน่งต่างๆ เพื่อรองรับตำแหน่งว่างได้ โดยให้ใช้สถานศึกษาเป็นสถานที่จัดสอบ รวมถึงการจัดสอบเข้าเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) และ ม.4 ในวันที่ 6 - 7มิ.ย.นี้ด้วย
นายณัฏฐพล กล่าวดเพิ่มเติมถึงกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง 2563 จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดการณ์ว่าแรงงานจะมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน และในจำนวนนี้ มีผู้ที่จบการศึกษาใหม่ 5.2 แสนคน จะมีผลกระทบเนื่องจากไม่มีตำแหน่งงานร้องรับนั้น น่าจะเกี่ยวกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะดูแล และในส่วนของนักเรียนอาชีวะซึ่งอาจจะมีไม่มาก ซึ่ง ศธ.ก็เตรียมมาตาการในการหาทางช่วยเหลืออยู่
ขณะที่นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวในประเด็นนี้ว่า ในที่ประชุม ศบค.มีการพิจารณาวาระที่มีการเสนอให้มีการเปิดเรียนซึ่งเดิมเป็นวันที่ 1 ก.ค 2563 โดยยังให้คงวันดังกล่าวไว้เช่นเดิม แต่มีการหารือในประเด็นที่จะเลื่อนให้เร็วขึ้นได้หรือไม่ ในบางส่วนบางโรงเรียน เช่น โรงเรียนห่างไกลพื้นที่ต่างจังหวัด และอัตราการเกิดโรคไม่ได้มาก และเป็นโรงเรียนที่ห้องเรียนมีจำนวนคนไม่มาก สมควรที่จะเปิดได้ก่อนหรือไม่ เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชน ที่มีห้องเรียนน้อย จำนวนนักเรียนต่อห้องไม่มากทั้งในเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งในข้อสรุป คือยังยึดวันเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563 เช่นเดิม แต่ถ้ามีความพร้อมเกิดขึ้นก่อนอาจจะสามารถขยับเร็วขึ้นได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดยหลักการกว้าง ๆ ที่ ผอ.ศบค.ให้ไว้ อาทิ 1.ขนาดโรงเรียน สถานที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ห่างไกล ไม่ได้มีอัตราการติดเชื้อสูง อยู่ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้นักเรียนได้รับการเรียน 2. หากเป็นพื้นที่ในเมืองต้องเดิน อาจสลับเหลื่อมเวลาเรียน 3 วันต่อสัปดาห์ ถ้าสามารถทำได้ จะทำให้ไม่แออัดกันมาก ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนด้วย โดยเน้นเฉพาะกลุ่มเด็กโต เนื่องจากเด็กเล็ก หากมาเรียน อาจจะมีความเสี่ยงเพราะอยู่ใกล้ชิดกัน นอนกลางวัน และเล่นกัน
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ส่วนโรงเรียนนานาชาติที่ข้อร้องมาว่า การเรียนที่จะต้องมีการเปิดเทอมขึ้นเร็ว เพราะให้ทันของกระแสโลก และการเรียนที่เป็นมาตรฐานของต่างประเทศนั้น ยังไม่มีข้อตกลง ว่าจะเป็นข้อสรุปอย่างไร โดยทั้งหมดได้มอบให้ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปศึกษารายละเอียดและหาข้อสรุปของแต่ละเรื่องมานำเสนออีกครั้งในการประชุม ศบค.ครั้งต่อไป และจะชี้แจงความชัดเจนต่อประชาชนอีกครั้ง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันศุกร์ ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
นายกฯสั่งศธ.วางแนวทางเปิดสอนก่อน 1 ก.ค. ปิ๊งไอเดียรร.ในเมือง‘เหลื่อมเวลา’เรียน3วัน
เมื่อเวลา 11.50 น.วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงตอนหนึ่ง ว่า ที่ประชุม ศบค. ได้หารือถึงการเปิดการเรียนการสอนตามที่มีการกำหนดไว้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ขณะนี้ยังยึดกรอบเวลาดังกล่าวอยู่ แต่ให้พิจารณาเปิดการเรียนการสอนในบางโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีอัตราการระบาดของโรคไม่มาก หรือห้องเรียนที่มีจำนวนผู้เรียนไม่มาก รวมถึงมีการพูดคุยถึงโรงเรียนเอกชน ขณะที่โรงเรียนในเมืองอาจให้พิจารณาเหลื่อมเวลาเรียน 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ยังไม่มีข้อสรุป
ทั้งนี้ นายกฯมอบหลักการกว้างๆ ให้ รมว.ศึกษาธิการไปพิจารณารายละเอียดต่อ ซึ่งที่พิจารณากันตรงนี้เป็นส่วนของเด็กโต ไม่ใช่เด็กเล็ก ที่มียังมีประเด็นว่าต้องอยู่กันอย่างใกล้ชิด ยังต้องมีเวลานอนด้วยกันอยู่ อาจเป็นความเสี่ยงได้ ส่วนเรื่องโรงเรียนนานาชาติที่มีการร้องเรียนว่าควรเปิดเรียนเร็วเพื่อให้ทันกระแสของโลกและมาตรฐานของต่างประเทศนั้น ยังไม่มีข้อสรุป ขณะนี้นายกฯมอบให้ รมว.ศึกษาธิการไปศึกษาหาข้อสรุปของแต่ละเรื่องมานำเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันศุกร์ ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563