จากการที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 7 เมษายน 2563 มีมติรับทราบการเลื่อนเปิดเทอมจากวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เข้าใจดีถึงความกังวลและข้อสงสัยของทุกท่านต่อการเลื่อนเปิดเทอมและการจัดการเรียนการสอน ที่อาจส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งต่อตัวเด็ก ผู้ปกครอง ไปจนถึงครูและโรงเรียน เพราะภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่มีใครเคยพบเจอมาก่อน จึงจำเป็นต้องวางแนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในทุกระดับชั้นและทุกประเภท ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษาเอกชน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาสำหรับผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทักษะที่สำคัญในช่วงปิดเทอมให้แก่ผู้เรียน คือ ภาษาอังกฤษ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น โค้ดดิ้ง
แนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ)
รมว.ศธ.ได้ชี้แจงต่อสังคมมาโดยตลอด เพราะตระหนักอยู่เสมอ ไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมจะเลวร้ายและรุนแรงแค่ไหน การเรียนรู้ที่เข้าถึงและมีคุณภาพสำหรับเด็กไทยทุกคนเป็นเป้าหมายสูงสุดของเรา ตามแนวคิด
“การเรียนรู้นำการศึกษา”
โรงเรียนอาจหยุดได้”
แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เท่าที่สภาพแวดล้อมจะอำนวย บนพื้นฐาน 6 ข้อ คือ
- จัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง “การเปิดเทอม” หมายถึง การเรียนที่โรงเรียนหรือการเรียนที่บ้าน ทั้งนี้การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับผลการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
- อำนวยการให้นักเรียนทุกคน สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้แม้จะไม่สามารถไปโรงเรียนได้
- ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การเสนอขอช่องดิจิทัล TV จาก กสทช. ทั้งหมด 17 ช่อง เพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้น สามารถเรียนผ่าน DLTV ได้ ทั้งนี้ ไม่มีการลงทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ใด ๆ เพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น ซึ่ง กสทช.อนุมัติแล้วให้เริ่มออกอากาศ 16 พ.ค.นี้ เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน หรือถ้าสามารถกลับมาดำเนินการสอนได้ตามปกติก็ให้หยุดทดลองออกอากาศ แบ่งเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 15 ช่อง เป็นของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 1 ช่อง และเป็นของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 1 ช่อง โดยให้ออกอากาศแบบความคมชัดปกติ (SD)
- ตัดสินใจนโยบายต่าง ๆ บนพื้นฐานของการสำรวจความต้องการทั้งจากนักเรียน ครู และโรงเรียน ไม่คิดเองเออเอง โดยให้การจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นที่ตั้ง และกระทรวงจะสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
- ปรับปฏิทินการศึกษาของไทย ให้เอื้อต่อการ “เรียนเพื่อรู้” ของเด็กมากขึ้น รวมทั้งมีการปรับตารางเรียนตามความเหมาะสม โดยเวลาที่ชดเชยจะคำนึงถึงภาระของทุกคนและการได้รับความรู้ครบตามช่วงวัยของเด็ก
- บุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และทำให้ท่านได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด
- รูปแบบการเรียนการสอนออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ โดยมีการเรียนรู้แบบ onsite ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสามารถไปโรงเรียนได้ ขณะที่พื้นที่ไม่ปลอดภัยจะมีการเรียนรู้หลักผ่านทางการ on-air ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีการเรียนรู้เสริมผ่านระบบ online
- นโยบายหลักที่นำมาใช้ คือ เพิ่มเวลาพัก ลดการประเมินและงดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น โดยเน้นเรียนเฉพาะวิชากลุ่มสาระหลัก เพื่อให้นักเรียนผ่อนคลายลง ซึ่งนักเรียนมีเวลาพักในภาคเรียนที่ 1/2563 จำนวน 17 วัน และในภาคเรียนที่ 2/2563 จำนวน 37 วัน รวมทั้งสิ้น 54 วัน ฉะนั้นภาคเรียนที่ 1/2563 เรียนตั้งแต่ 1 ก.ค.-13 พ.ย.63 เป็นเวลา 93 วัน แล้วปิดภาคเรียน 17 วัน ส่วนภาคเรียนที่ 2/2563 เรียนตั้งแต่ 1 ธ.ค.63-9 เม.ย.64 เป็นเวลา 88 วัน แล้วปิดภาคเรียน 37 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.64 ซึ่งจะมีเวลาเรียนรวมทั้งสิ้น 181 วัน ส่วนเวลาที่ขาดหายไป 19 วัน จาก 200 วัน ให้แต่ละโรงเรียนสอนชดเชย ดังนั้น การเปิดเทอมปีการศึกษาหน้า จะกลับมาปกติในวันจันทร์ที่ 17 พ.ค.64
- การเตรียมพร้อมในด้านระบบการเรียนรู้ทางไกลและระบบออนไลน์จะเริ่มทดสอบตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด ในกรณีที่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เราไม่สามารถเปิดเทอมที่โรงเรียนได้
- ศธ.จะเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการสอนทางไกล ในสัดส่วน 80%เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนขั้นพื้นฐานได้ อีก 20% หรือมากกว่า ให้ทางโรงเรียนและคุณครูในแต่ละพื้นที่พิจารณาออกแบบตามความเหมาะสม
- การเรียนผ่านการสอนทางไกล จะใช้ทีวิดิจิตอล และ DLTV เป็นหลัก ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์สื่อจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีดิจิทัลแพลตฟอร์มของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ DEEP และการเรียนการสอนแบบโต้ตอบออนไลน์เป็นสื่อเสริม
แนวทางจัดการเรียนการสอน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ได้มีการกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนระบบทางไกล โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม (7 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2563) สำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการการเรียนการสอน รวมถึงขออนุมัติใช้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมขออนุมัติเผยแพร่การเรียนการสอนจากห้องเรียนต้นทาง ในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำสื่อวีดิทัศน์การสอน โดยครูต้นแบบ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรวบรวมสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ใน OBEC Content Center ชุดโปรแกรมและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ครบวงจรของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น Tutor ติวฟรี.com, e-Book เป็นต้น รวมถึงเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเครือข่าย เพื่อรองรับการให้บริการ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับระบบ Digital e-Learning ของกระทรวงศึกษาธิการ
ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล (18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563) จะทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยการเผยแพร่สัญญาณจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ในระดับปฐมวัยเน้นกิจกรรมเตรียมความพร้อมเด็ก และระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลและระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา รวมทั้งเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นการเรียนการสอนทางไกล จากผู้ปกครอง ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงและพัฒนา และประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แนะนำช่องทางการเรียนทางไกลให้กับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง
ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน (1 กรกฎาคม 2563 – 30 เมษายน 2564) ได้วางแผนไว้สำหรับ 2 สถานการณ์ นั่นคือ สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ยังไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา และสถานการณ์ที่ 2 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid–19) คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
ระยะที่ 4 การทดสอบและการศึกษาต่อ (1 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2564) จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ นั่นคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกี่ยวกับระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS GAT PAT) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เกี่ยวกับการทดสอบ O-net ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
โดย Platform นี้จะสามารถทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเรียนรู้วิธีการดูแล พัฒนาผู้เรียนที่พิการ ตามแบบต่าง ๆ ต่อไปได้ ทั้งยังสามารถบรรจุสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ การให้คำปรึกษา แนะนำ และเรื่องอื่น ๆ ไปยังหน่วยงาน สถานศึกษาในสังกัด ศธ. ได้ด้วย
ทั้งนี้ Platform ของโรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษ คือ เมื่อค้นหาเข้าไปก็จะทราบข้อมูลว่าจังหวัดนี้มีคนพิการประเภทใดบ้าง มีกี่คน บ้านอยู่ที่ไหน เป็นต้น โดยดำเนินการได้แล้ว 3 จังหวัด และจะขยายผลให้ครบทุกจังหวัด
ในขณะที่การส่งเสริมการเรียนรู้และการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) คุณหญิงกัลยาฯ ใช้แนวทางการพัฒนาครูในฐานะผู้นำการเรียนรู้ (Teacher as Lead Learner) มีการอบรมครูแล้วให้ครูกลับไปสอนนักเรียน มีการประเมินตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และเมื่อจบโครงการ
ซึ่งในช่วงเวลา 1 เทอมที่ผ่านมา พบว่าเด็กมีทัศนคติที่ดีขึ้น มีทักษะเพิ่มมากขึ้นในทุกกลุ่มโรงเรียน จึงจะขยายความร่วมมือกับ ELERNITY เพื่อขยายผลฝึกอบรมครูกว่า 10,000 โรงเรียน ตามแนวทางการพัฒนาครูในฐานะผู้นำการเรียนรู้ (Teacher as Lead Learner)
รูปแบบนี้มีข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเทคโนโลยีราคาแพง ก็สามารถสอนภาษาอังกฤษ และ Coding ได้ผลดีอย่างไม่แตกต่างกันมากนัก
ปฏิทินการรับนักเรียน สพฐ.
- การรับนักเรียน โดยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รับสมัครทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563
- การสอบ/คัดเลือก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในวันที่ 6 มิถุนายน 2563 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2563 และจับฉลาก (ถ้ามี) ในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 โดยจัดสอบที่โรงเรียน มีการดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น จำนวนผู้สอบต่อห้อง การเว้นระยะห่างในการสอบ ฯลฯ
- การประกาศผลสอบ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวันที่ 11 มิถุนายน 2563
- การจัดหาสถานศึกษาและการรับรายงานตัว/มอบตัว ของนักเรียนทุกคน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2563 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวันที่ 14-15 มิถุนายน 2563
ฉะนั้น ในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน เพื่อเตรียมตัวเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
แนวทางจัดการเรียนการสอนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
ได้เตรียมการไว้สำหรับผู้เรียนทุกระดับ ทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ โดยแบ่งเป็น 4 รูปแบบ
- จัดการเรียนผ่านเอกสารตำราเรียน โดยให้ครูทำการสอนผ่านเอกสาร ตำราเรียน หนังสือเรียน และชีทต่าง ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐาน (Basic) ที่ไม่ต้องเตรียมอะไรเพิ่มเติมมาก เนื่องจากมีเอกสารและหนังสือตำราเรียนแจกฟรีอยู่แล้ว ทั้งนี้ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน อาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่มีจำนวนคนไม่มาก สลับกันมาเรียน หรือใช้ช่องทางสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ Line ข้อความผ่านเครือข่ายออนไลน์ เป็นต้น รวมถึงการให้ครูไปพบผู้เรียนที่บ้านบ้างตามความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้ทันที
- จัดการเรียนด้วยระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ถือเป็นการจัดการศึกษาแบบสากล เนื่องจากปัจจุบันผู้เรียนสามารถเข้าถึงช่องทางโทรทัศน์ได้มากกว่า 90% แล้ว โดย สอศ.จะจัดเนื้อหาให้ครอบคลุมทุกวิชา ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ขณะเดียวกันจะมีการเชื่อมโยงเนื้อหาไปยังช่องทางออนไลน์อื่นเพิ่มเติม เช่น FACEBOOK YOUTUBE ให้สามารถดูไปพร้อมกันได้ เพื่อให้เข้าถึงผู้เรียนให้มากที่สุด
- จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรมฟรีที่ให้บริการ เช่น Zoom, Microsoft Team ซึ่งสถานศึกษาอาชีวะหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน มีระบบและบทเรียนการสอนออนไลน์ที่พร้อมใช้อยู่บ้างแล้ว ก็สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ทันที และจะพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถแบ่งปันให้สถานศึกษาอื่น ๆ มาใช้งานร่วมกันได้ตามความเหมาะสม พร้อมทั้งจะผลักดันการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในแต่ละสถานศึกษาให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้สมัยใหม่ในโลกดิจิทัล ไม่ใช่เฉพาะช่วงวิกฤต COVID-19 เท่านั้น
- จัดการเรียนผ่านการสอนสด (Live) ที่ผ่านมาอาชีวะยังขาดแคลนครูหลายสาขา เช่น สาขาช่างอากาศยาน ซึ่งต้องจ้างวิทยากรภายนอกมาสอน ดังนั้น จึงจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์โดยถ่ายทอดการสอนของครูและวิทยากรชั้นนำในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อให้ผู้เรียนจากวิทยาลัยอื่นได้เรียนไปพร้อม รวมทั้งจะพัฒนาให้สถานศึกษาอาชีวะที่มีความพร้อมเป็นต้นแบบการสอน เช่น วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง เป็นต้นแบบการสอนการบิน เป็นต้น
การจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ยังมีความแตกต่างไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ มีภาคปฏิบัติ หรือฝึกประสบการณ์ หากในช่วงเวลาเปิดเรียนแล้ว ภาคทฤษฎียังไม่สามารถเปิดทำการสอนตามปกติได้ ในส่วนของภาคปฏิบัติยังคงสามารถจัดระเบียบการเข้าใช้ได้ตามปกติ โดยอาจจะแบ่งให้กลุ่มผู้เรียนมีจำนวนน้อยลง และเข้าเรียนตามรอบเวลา ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เรียนและความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา
นอกจากนี้ ยังวางแผนพัฒนาครูอาชีวะของรัฐกว่า 30,000 คน และเอกชนกว่า 10,000 คน เพื่อให้เป็นครูพี่เลี้ยง ถ่ายทอดความรู้ไปยังครูเครือข่ายอาชีวศึกษาทุกคนต่อไปใน 3 ทักษะที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะภาษาจีน และทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ช่วงปิดเทอมนี้ด้วย
แนวทางจัดการเรียนการสอน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
รมช.ศธ. (กนกวรรณ วิลาวัลย์) ซึ่งดูแลรับผิดชอบการศึกษาเอกชน ได้มอบหมายให้ สช.จัดรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนเอกชน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มี 3 วิธี คือ
- เรียนในโรงเรียนปกติ ในพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยจัดการเรียนการสอนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และให้มีระยะห่างของสังคม
- เรียนผ่านระบบทางไกล On Air คือ DLTV ในระดับอนุบาล-ม.3 และผ่านทีวิดิจิตอล 17 ช่อง โดย สพฐ.ผลิตคลิปทุกกลุ่มสาระทุกระดับชั้น
- ระบบออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต
ในช่วงปิดเทอม สช.ได้ร่วมกับสถานศึกษาเอกชน 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนกรุงเทพวิทยาการคอมพิวเตอร์ โรงเรียนมัธยมยานากาวา โรงเรียนวรรัตน์ศึกษา และสถาบัน 168 ติวเตอร์ออนไลน์ จัดการศึกษาออนไลน์ นักเรียนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาออนไลน์ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างทั่วถึง นักเรียนสามารถเรียนฟรีที่บ้าน ปลอดภัย และได้ความรู้
รูปแบบการสอน จะมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งจะเป็นการสอนทั้งไลฟ์สด และบันทึกเทปการสอน โดยมีครูโรงเรียนดังและติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงเข้ามาร่วมสอนออนไลน์ในครั้งนี้
โดยนักเรียนสามารถเข้าใช้บริการเว็บไซต์ ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช. ได้จากเว็บไซต์ สช. (www.opec.go.th) จากนั้นเลือกโรงเรียนต้นทางที่ให้บริการ กรอกข้อมูลพื้นฐานตามที่ระบบร้องขอ ก็สามารถเริ่มการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) ได้ทันที โดยโรงเรียนเอกชนสามารถใช้ระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนแบบปกติได้
นอกจากนี้ สช.ยังได้ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร 8 แห่ง คือ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด, อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์, ไอดี ไดร์ฟ, สสวท., สํานักพิมพ์วัฒนาพานิช จํากัด, บริษัท ดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่ จํากัด รวมทั้งโรงเรียนทิวไผ่งามและนานาชาติ แคนาเดียน ประเทศไทย เพื่อนำแพลตฟอร์มและเนื้อหาบทเรียนออนไลน์ที่ทันสมัยและครอบคลุมการเรียนทุกกลุ่มสาระวิชา มาใช้ในการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แนวทางจัดการเรียนการสอน ของสำนักงาน กศน.
รมช.ศธ. (กนกวรรณ วิลาวัลย์) ซึ่งดูแลรับผิดชอบสำนักงาน กศน. กำหนดแนวทางไว้ ดังนี้
- ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ETV) เป็นหลักในการผลิตรายการโทรทัศน์และวิทยุเพื่อการศึกษา เพื่อตอบโจทย์การจัดศึกษาตลอดชีวิต สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานตามหลักสูตร และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเสริมทักษะต่าง ๆ สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นรายการ ETV ติวเข้มออนไลน์ โดยได้คัดสรรครูที่มากความสามารถและติวเตอร์ระดับประเทศ มาสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ความรู้ในทุกสาระวิชา รายการภาษาเพื่ออาชีพ รายการเพื่อผู้สูงอายุ รายการเสริมทักษะสำหรับผู้พิการ รายการทักษะอาชีพดิจิทัล เป็นต้น โดยได้คัดสรรส่งตรงถึงบ้าน ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) รวมทั้งผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ETV ด้วย
- สถาบันการศึกษาทางไกล ที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่องด้วยวิธีทางไกล วางแผน พัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น และช่องทางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความน่าสนใจ เพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายต่อการเรียนรู้ เพราะเรามีเป้าหมายที่จะให้ประชาชนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง
นางรักขณาฯ กล่าวด้วยว่า รมว.ศธ. “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ฝากถึงผู้ปกครองว่าเด็ก ๆ ที่อยู่ในระบบการศึกษา ล้วนแล้วแต่เป็นลูกและหลานของพวกเรา เป็นอนาคตของประเทศทั้งสิ้น เราจะพยายามอย่างสุดความสามารถ ให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้อย่างราบรื่นที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงผลประโยชน์ระยะยาว ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยระบบการศึกษาที่ดีไม่ควรทำให้เด็กมีความรู้ ทักษะ และความสามารถเท่านั้น แต่จะต้องสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยความร่วมมือร่วมใจกัน ที่จะก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน ขอเพียงพวกเราทุกฝ่ายสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราจะผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้อย่างแน่นอน ขอบคุณทุกท่าน ที่ช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับการศึกษาไทย
ที่มา เว็บไซต์รัฐบาลไทย