เสียงดังออกปากจากเด็กๆ พร้อมเพรียงกันฟังได้ว่า “ฮัช ฮัช ฮัช” เป็นจังหวะตามการออกท่าทางเริ่มต้นบริหารร่างกายบนลานหน้าโรงเรียนในวันหยุดของโรงเรียนบ้านบาโงยซิแน อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ทำให้โรงเรียนมีชีวิตชีวา เด็กๆ เหล่านี้กำลังบริหารร่างกายเพื่อเตรียมตัวฝึกทบทวน “สีลัต” ที่ได้เคยเรียนรู้มา
โดยช่วงต้นปิดเทอมที่ผ่านมา เด็กๆ กลุ่มนี้ได้รับการฝึก “สีลัต” ศิลปะการป้องกันตัวสำหรับเด็ก สอนโดย สำนักสีลัตฮารีเมาปาตานีเพื่อสุขภาวะชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมตาม โครงการปิดเทอมเยาวชนสร้างสรรค์ ปลุกพลังเมืองยะลา กิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนช่วงปิดเทอมที่รู้จักกันในชื่อ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้การดูแลของ สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (ลูกเหรียง)
โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ของยะลา เมื่อครั้งที่ผ่านมา มีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย ได้แก่ กิจกรรมสอนน้องทำพอร์ต (Portfolio) แบบง่าย สำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.4-ม.6 กิจกรรมกระเป๋าผ้ากู้โลก ฝึกทำกระเป๋าผ้าสำหรับเด็กและเยาวชน และกิจกรรม EF (Executive Functions) for Children เสริมทักษะสมองเพื่อพัฒนาสมาธิให้กับเด็ก
สำหรับ “สีลัต” เป็นกิจกรรมศิลปะการป้องกันตัวสำหรับเด็ก โดยเปิดรับเฉพาะนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.4-ม.3 เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเท้าเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงามและการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย เพื่อที่ตัวเองไม่ไปทำร้ายคนอื่น และป้องกันไม่ให้คนอื่นมาทำร้ายตัวเรา
“สีลัต” หรือเรียกชื่อเต็มคือ “ปันจัก สีลัต” (Penjak Silat) เป็นภาษามลายู “ปันจัก” แปลว่า ป้องกันตัว ส่วน “สีลัต” แปลว่า ศิลปะ แปลได้ตรงตัวคือ ศิลปะการป้องกันตัวแบบมลายู นิยมเรียกย่อๆ ว่า “สีลัต” เป็นทั้งการต่อสู้ การละเล่น การแสดงในแหลมมลายูตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันถูกบรรจุให้เป็นกีฬาสากล มีการแข่งขันกันในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับสากล
นอกเหนือจากเป็นศิลปะป้องกันตัว การฝึกสีลัตยังมีประโยชน์ทางสุขภาวะทั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยให้เด็กได้ออกกำลังกาย มีพัฒนาการกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ตามอายุ และฝีกสมาธิ นอกจากนั้น การชักชวนให้เด็กมาทำกิจกรรมยามว่างช่วยหันเหไม่ให้เด็กไปทำกิจกรรมเสี่ยงอื่นๆ และยังทำให้เด็กๆ จากต่างสถานที่ได้รู้จักกันมากขึ้นอีกด้วย
ปัจจุบันสวัสดิภาพ ความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนยังเป็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะในบางพื้นที่ของชายแดนใต้ มีตัวเลขการคุกคามทางเพศต่อสตรีและเด็กไม่น้อย โดยผู้ที่ถูกคุกคามส่วนมากมีอายุเพียง 13-15 ปี เท่านั้น แม้จะมีหลายฝ่ายช่วยกันขับเคลื่อนในหลายๆ ด้านเพื่อคุ้มครองเด็ก แต่การที่เด็กจะรู้เท่าทันและสามารถป้องกันการคุกคามด้วยตนเองได้ย่อมเป็นสิ่งที่ดี
“สนุกค่ะ เพราะได้รู้จักการเอาตัวรอด ถ้ามีโจรมาจับเราขึ้นรถตู้ เราก็จะใช้สีลัตที่เรียนมาสลัดให้หลุดและหนีได้” ด.ญ.อาวานี เด็งแวลี เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม เล่า
“เราสอนท่าพื้นฐาน สอนออกหมัดเป็นอย่างแรก สอนเตะ และเน้นการสอนป้องกันตัวเอง เมื่อมีคนร้ายมาฉุดดึงมือ เด็ดจะสลัดได้เพราะได้เรียนรู้พื้นฐานวิธีการสะบัดมือให้หลุดรอดจากการถูกจับมือจะทำได้อย่างไร” นายมารุวัน มาลายา ผู้ฝึกสอนปันจักสีลัตจากสำนักสีลัตฮารีเมาปัตตานี อธิบาย
การฝึกสีลัต นอกจากได้ทั้งประโยชน์ด้านป้องกันตัวและได้ออกกำลังกายแล้ว ยังมีมิติทางการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอีกด้วยเพราะสีลัตนั้นเป็นศิลปะประเพณีโบราณของแหลมมลายู สืบย้อนไปได้ถึงสมัยศรีวิชัยอันรุ่งเรืองที่มีอาณาบริเวณทั้งแหลมมลายูและสุมาตรา จึงไม่น่าแปลกใจที่ทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยนิยมการเล่นปันจักสีลัตมาตั้งแต่โบราณ
สีลัตนั้นขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามซึ่งมีทั้งแบบการแสดงร่ายรำ และการต่อสู้จริงจัง รวมไปถึงการแต่งกายสวยงามและดนตรีประกอบอันไพเราะเร้าใจล้วนแต่เกิดขึ้นจากรากฐานวัฒนธรรมมลายูดั้งเดิมทั้งสิ้น การฝึกปันจักสีลัตย่อมเปิดมิติของการศึกษาวัฒนธรรมบ้านเกิดสร้างความภูมิใจในท้องถิ่น
ดังข้อสรุปของ นายอับดุลรอมีน อาเย๊าะแซ พี่เลี้ยงโครงการศิลปะการป้องกันตัวสำหรับเด็ก ซึ่งกล่าวว่า “สีลัตเป็นความรู้เดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ การสอนสีลัตทำให้น้องๆ รู้จักการป้องกันตนเองและได้สืบทอดองค์ความรู้ของท้องถิ่น”
ด้วยการฝึกสีลัต ตามโครงการปิดเทอมเยาวชนสร้างสรรค์ ปลุกพลังเมืองยะลา บนพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สนุก สร้างสรรค์ และได้สุขภาพดีเป็นของแถมที่ คือพื้นที่และกิจกรรมดีๆ ที่ทุกๆ ฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้