นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกระเบียบ ศธ. ว่า ด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ว่า ระเบียบดังกล่าวออกมา เพื่อเป็นหลักเกณฑ์กลางให้โรงเรียนปฏิบัติตาม โดยข้อที่กำหนดให้นักเรียนต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม ที่กำหนดให้นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ส่วนนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสม และรวบให้เรียบร้อย มีการกำหนดไว้เดิมอยู่แล้ว แต่ระเบียบ ศธ.ฉบับนี้ได้เพิ่มในส่วนของข้อห้ามปฏิบัติ ได้แก่ การดัดผม การย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม การไว้หนวดหรือเครา และการกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผม เป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย เพื่อที่จะเป็นแนวทางให้ทุกโรงเรียนในสังกัด ศธ.ปฏิบัติตาม
อีกทั้งยังกำหนดให้อำนาจในการกำหนดทรงผมของนักเรียนนั้น เป็นไปตามที่ความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ซึ่งจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ และการดำเนินการจะต้องยึดถือหลักความเหมาะสม และเปิดให้นักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย
“อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ศธ.ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกำหนดเรื่องการไว้ทรงผมจำนวนมาก ซึ่งผมเชื่อว่า ระเบียบฉบับนี้จะสามารถแก้ปัญญาเรื่องการไว้ทรงผม เพราะได้มีการเปิดช่องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย” ปลัด ศธ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ปกครองได้มาร้องเรียนกับศธ. เกี่ยวกับโรงเรียนมีข้อห้ามบังคับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่ขัดต่อระเบียบกลางของศธ. โดยปีที่ผ่านมา มีผู้ปกครองรายหนึ่งร้องเรียนว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ห้ามไม่ให้นักเรียนไว้ผมหน้าม้า ถ้าฝ่าฝืน นักเรียนรายนี้ต้องลาออก ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ของนักเรียน จนทำให้ศธ.ต้องออกประกาศย้ำเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน ว่าสามารถไว้ผมยาวได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบที่ประกาศกำหนด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563