4พ.ค.63-ตามที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้มีการกำหนดให้การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) วิชาภาษาไทย ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นรูปแบบอัตนัย และในอนาคตมีแนวโน้มที่ทดสอบโอเน็ตจะนำข้อสอบแบบอัตนัยมาใช้มากขึ้นนั้น
นายอำนาจ วิชยานุวัตร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวในหลักการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความเชื่อมั่น ว่า ข้อสอบอัตนัยจะทำให้เด็กได้มีการใช้กระบวนการคิดและเขียนในการทำข้อสอบมากกว่าข้อสอบแบบปรนัย ซึ่งเรื่องของการเขียนถือเป็นเรื่องสำคัญ และ สพฐ.ก็ได้มีการวางแผนที่จะส่งเสริมเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เฉพาะการสอบ แต่จะมีการเขียนเรียงความ การเขียนย่อความ การเขียนวิเคราะห์ในเรื่องต่างๆ ผ่านการเรียนการสอน โดยตนได้มอบหมายให้สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สังกัด สพฐ. ดำเนินการกระตุ้นให้เด็กมีการฝึกทักษะเรื่องการเขียนเชิงวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น รวมถึงมอบนโยบายให้โรงเรียนสร้างองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เพราะ สพฐ.มองว่าเรื่องนี้ การทำให้เด็กได้ฝึกการคิด ฝึกเขียน จะทำให้เด็กได้ฝึกกระบวนการคิด และถ่ายทอดออกมาในลักษณะข้อความ ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เด็กเขียนออกมาก็ผ่านการประมวลผลจากสมอง อีกทั้งการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่อยู่ระหว่างการยกร่างก็จะตอบโจทย์ในเรื่องเหล่านี้มากยิ่งขึ้นด้วย
“ผมต้องการให้กระบวนการพัฒนาเด็ก เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ที่เด็กได้เป็นผู้ลงมือปฏิบัติ หรือ มีกระบวนการคิดที่จะสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น และเมื่อเด็กรู้จักกระบวนการคิด การลงมือทำ มีการทำซ้ำ ก็จะทำให้เด็กเกิดทักษะในด้านนั้นๆ โดยครูจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน กระตุ้น สร้างองค์ความรู้ หาแหล่งการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีทักษะและกระบวนการคิด”เลขาฯ กพฐ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563