เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ค Nataphol Teepsuwan - ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ โดยมีเนื้อหาคือ แถลงการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการการจัดการเรียนการสอนช่วง COVID-19 ครั้งที่ 2 (ในกรณีที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ในวันที่ 1 ก.ค 2563) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
การจัดการเรียนการสอนช่วง COVID-19 ครั้งที่ 2
(ในกรณีที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ในวันที่ 1 ก.ค 2563)
สวัสดีครับ ครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา สื่อมวลชนและประชาชนทุกคนครับ ต่อเนื่องจากแถลงการณ์ในครั้งที่ 1 วันนี้ผมมาอัปเดตความก้าวหน้าในการเตรียมตัวเพื่อให้การเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้เป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญตั้งอยู่บนความปลอดภัยสูงสุดของลูกหลานเราครับ
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า นี่เป็นการจัดการเรียนการสอนในสภาวะที่ไม่ปกติ ในพื้นที่ยังมีความไม่ปลอดภัย ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ โดยผมและบุคลากรกระทรวงศึกษาฯ ทุกคน ได้พยายามสุดความสามารถเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคนจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเท่าเทียมกัน เพราะ
“การเรียนรู้นำการศึกษา”
โรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้
ด้วยเจตนาข้างต้น ทำให้เราออกแบบการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 โดยมีรายละเอียดในภาพรวมดังนี้
1.รูปแบบการเรียนการสอนออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ โดยมีการเรียนรู้แบบ onsite ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสามารถไปโรงเรียนได้ ขณะที่พื้นที่ไม่ปลอดภัยจะมีการเรียนรู้หลักผ่านทางการ on-air ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีการเรียนรู้เสริมผ่านระบบ online
2. นโยบายหลักที่นำมาใช้ คือ เพิ่มเวลาพักซึ่งจะมีการแถลงอีกครั้งในรายละเอียด ลดการประเมินและงดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นโดยเน้นเรียนเฉพาะวิชากลุ่มสาระหลัก ผมหวังว่าสิ่งนี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักเรียนผ่อนคลายได้ไม่มากก็น้อยครับ
3. การเตรียมพร้อมในด้านระบบการเรียนรู้ทางไกลและระบบออนไลน์จะเริ่มทดสอบตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้เราพิจารณาทั้งในเชิงประสิทธิภาพและการเข้าถึง เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดในกรณีที่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เราไม่สามารถเปิดเทอมที่โรงเรียนได้
4. กระทรวงศึกษาฯ จะเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการสอนทางไกลในสัดส่วน 80% เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนขั้นพื้นฐานได้ อีก 20% หรือมากกว่า ให้ทางโรงเรียนและคุณครูในแต่ละพื้นที่พิจารณาออกแบบตามความเหมาะสม
5. การเรียนผ่านการสอนทางไกลจะใช้สื่อโทรทัศน์ (TV) ในทุกระบบเป็นหลัก ทั้งนี้ ได้รับการอนุเคราะห์สื่อจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีมาตรฐาน โดยมีดิจิทัลแพลตฟอร์มของกระทรวงศึกษาฯ หรือ DEEP และการเรียนการสอนแบบโต้ตอบออนไลน์เป็นสื่อเสริม
ในสถานการณ์ที่ COVID-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น บุคลากรทางการศึกษาพร้อมปรับตัวเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ตาม ขอเพียงพวกเราทุกฝ่ายสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราจะผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้แน่นอนครับ
ขอบคุณผู้ที่เกี่ยวทุกท่านอีกครั้ง ที่ช่วยกันสร้างพลังบวก และใช้วิกฤติในครั้งนี้ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับการศึกษาไทยครับ
2 พฤษภาคม 2563
#โรงเรียนหยุดได้แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้
#อนาคตเด็กไทยคืออนาคตประเทศ
------------
ที่มา เฟซบุ๊ค Nataphol Teepsuwan - ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 2 พฤษภาคม 2563
พร้อมกันนี้ ยังได้แนบรูปภาพประกอบ ดังนี้