สช.แจงขั้นตอนครู-ลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนขอรับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคม
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบในการทำงาน ขาดรายได้ รวมถึงครู หรือลูกจ้างโรงเรียนเอกชน ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกประกาศให้โรงเรียนทั้งในระบบและนอกระบบ
รวมทั้งโรงเรียนนานาชาติปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ และให้มีกำหนดเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.ค.2563 ส่งผลให้โรงเรียนต้องหยุดกิจการชั่วคราว โรงเรียนงดจ่ายค่าจ้างให้แก่ครู เพราะปกติแล้วช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่โรงเรียนมีรายได้ แต่สภาวะเช่นนี้โรงเรียนกลับไม่มีรายได้ ทำให้ครู และบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ประมาณ 1 แสนคน ขาดรายได้ และถือเป็นบุคคลที่อยู่ในข่ายที่ได้รับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคม 62% ของค่าจ้าง
เลขาธิการ กช. กล่าวต่อไปว่า เพื่อช่วยเหลือ และชี้แจงทำความเข้าใจครู บุคลากรทางการศึกษา และลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนเพื่อขอรับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคมตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้ร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการขอรับเงินทดแทนในส่วนของลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม
โดยมี ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และผู้แทนสมาคมโรงเรียนเอกชน
โดยในการประชุมดังกล่าวได้ถ่ายทอดการประชุมไปยังเครือข่ายโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศด้วย ทั้งนี้ที่ประชุมได้ชี้แจงกระบวนการการขอรับเงินทดแทน ว่าจำเป็นต้องทำพร้อมกันทั้งนายจ้างและลูกจ้าง กองทุนประกันสังคมจึงจะจ่ายเงินให้ได้ โดยนายจ้างจะต้องออกหนังสือรับรองให้แก่ลูกจ้างกรณีที่ไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้าง และประกันสังคมจะรับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนให้ ได้ไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน
ทั้งนี้ช่วงระยะเวลาที่ครู และลูกจ้างโรงเรียนเอกชนสามารถขอเบิกเงินทดแทนได้ คือโรงเรียนเอกชนได้งดจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือน 1 มี.ค.– 31 ส.ค.2563 โดยโรงเรียนใดนายจ้างงดจ่ายกี่เดือน กองทุนประกันสังคมก็จ่ายเงินให้ตามจำนวนเดือนที่ถูกงดจ่าย แต่ไม่เกิน 3 เดือน
ดังนั้นจึงต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตในฐานะผู้ประกอบการและลูกจ้างที่เป็นครู และบุคลากรในฐานะลูกจ้างผู้ประกันตน ได้เข้าใจวิธีการยื่นคำขอรับเงินทดแทน และยื่นเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความสะดวก ถูกต้อง และโดยเร็วที่สุด ทุกคนก็จะได้รับเงินทดแทนเร็วที่สุด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 29 เมษายน 2563