รมว.ศึกษาธิการ เผย ที่ประชุมครม.เห็นชอบงบประมาณ 50,000 ล้านบาทยกระดับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล 8,000 แห่ง ตั้งแต่ปี 63-ุ65
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบงบประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 8,000 แห่ง แบ่งเป็นระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการ 3 ปีตั้งแต่ปี 2563 – 2565 สำหรับในงบประมาณจำนวนนี้ได้แบ่งสัดส่วนการลงทุนแต่ละปีนั้นจะทุ่มงบประมาณจัดหนักไปที่ปี 2564 และ 2565 โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการจ้างครูต่างชาติ แต่ทั้งนี้จะพิจารณาการใช้งบประมาณตามความเหมาะสม เพราะหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ยังไม่พ้นวิกฤตโอกาสที่จะรับครูต่างชาติมาสอนที่โรงเรียนคงไม่มี ดังนั้นเราอาจให้ครูไทยที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีนมาสอนทดแทนได้ ส่วนงบประมาณที่เหลือจากค่าใช้จ่ายการจ้างครูแล้วก็จะนำมาปรับปรุงสภาพโรงเรียนให้มีความพร้อมการขยายตัวของนักเรียน และการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับโลกศตวรรษที่ 21 ทั้งการพัฒนาหลักสูตร การสร้างเด็กให้มีทักษะดิจิทัล
“การลงทุนดังกล่าวถือเป็นงบประมาณที่คุ้มค่า เนื่องจากเราต้องการลงทุนสร้างทรัพยากรบุคคลในอนาคต เพื่อรองรับการลงทุนของประเทศไทยในอนาคต เพราะทุกวันนี้จะเห็นแล้วว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับต้นๆที่ต่างชาติอยากจะมาลงทุนทำธุรกิจมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาเรามองเห็นถึงจุดอ่อนจุดแข็งของประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านและวางรากฐานเหล่านี้ไว้ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เพื่อนำการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลไปสู่การเชื่อมต่อกับการผลิตกำลังคนของประเทศในอนาคต” รมว.ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 28 เมษายน 2563
"ครม." ไฟเขียว 5 หมื่นล้านสานต่อโครงการส่งเสริมร.ร.คุณภาพประจำตำบล 8 พันกว่าโรงทั่วประเทศ "นายกฯ" กำชับศธ.ใช้งบคุ้มค่า เห็นผลลัพธ์
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มติเห็นชอบโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียนโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เพื่อส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนในส่วนภูมิภาคให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องลดความเหลื่อมล้ำ โดยเป็นโครงการระยะยาวปี 63-65 วงเงินงบประมาณ 51,904 ล้านบาท ซึ่งจะพัฒนาโรงเรียนทั่วประเทศจำนวน 8,224 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนระดับปฐมศึกษา 7,079 โรง โรงเรียนระดับมัธยม 1,145 โรง กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 1,789 โรง ภาคใต้ 1,238 โรง ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก 2,152 โรง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,035 โรง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการสานต่อนโยบายเดิมของนายกฯ เริ่มตั้งแต่ปี 61 ผลักดันโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ตามนโยบาย 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ ปีนี้จึงสานต่อให้ประสบความสำเร็จ
น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าประสงค์ 3 ด้าน คือ 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาให้โรงเรียนมีวัสดุ อุปกรณ์ สถานที่เหมาะสม ส่งเสริมการเรียนรู้มีห้องเรียนอัจฉริยะ มีห้องปฏิบัติการ แหล่งเรียนรู้ วิชาทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ด้านภาษา และคุณธรรมจริยธรรม 2. ด้านส่งเสริมการศึกษา เน้นการพัฒนาหลักสูตร เช่น เพิ่มทักษะด้านต่างๆให้ผู้เรียน เน้นการเรียนรู้แบบแอก ทีฟเรนนิ่ง คือ กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมี ปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ และ 3.ด้านการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม โดยส่งเสริม สนับสนุนให้คนในชุมชน เอกชน ครอบครัว วัดและโรงเรียนมีส่วนร่วมดูแลส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่
“ครม.กำชับไปยังกระทรวงศึกษาธิการว่าต้องบูรณาการดำเนินโครงการร่วมกับโครงการอื่นๆ พิจารณาจัดกลุ่มโรงเรียนที่มีประเด็นปัญหาด้านต่างๆที่มีลักษณะเดียวกัน แก้ปัญหาเชิงระบบ ไม่ทำงานเป็นเบี้ยหัวแตก รวมถึงกำหนดกลไกการประเมินผลในการดำเนินการของโรงเรียนด้วย เพราะโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณเยอะ นายกฯกำชับว่าผลลัพธ์ต้องคุ้มค่า” น.ส.รัชดา กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก สยามรัฐ วันที่ 28 เมษายน 2563