เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) เพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบาย Thailand 4.0 ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ศธ.เห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาพเอกชนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จึงได้ขอให้คณะผู้บริหารให้ความสำคัญกับแนวทางการปรับปรุงแก้ไขต่อยอดถึงการทำงานของ ศธ.ที่จะขับเคลื่อนการศึกษาไทย และในวันนี้ที่ประชุมได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับข้อจำกัดต่างๆ ซึ่ง ศธ.จะแก้ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดหรือจุดบอดที่ภาคเอกชนมองเห็นถึงการทำงานของ ศธ.ทั้งเรื่องประกาศและกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งก็อยูในขั้นตอนที่ ศธ.กำลังดำเนินการแก้ไขอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ตนได้มอบให้ตัวแทนจำนวน 37 คน กระจายเข้าไปประสารงานกับภาคเอกชน องค์กร และมูลนิธิต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เพื่อเข้าไปรับทราบความคืบหน้าการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมา ทั้งข้อจำกัด อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินงานระยะยาวด้วยว่าหลังจากที่ได้มาเข้ามาทำโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง โดยกำหนดเวลาในการเก็บข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ หลังจากนั้นตนก็จะนำผลมาประมวลให้เสร็จ 1 สัปดาห์ เพื่อจัดกลุ่ม แต่เท่าที่ได้รับฟังวันนี้ก็พอจะทราบในเบื้องต้นแล้วว่ามีอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็จะวางแผนการทำงานต่อไป
"ที่ต้องรีบทำในช่วงนี้อาจจะมีเรื่องงบประมาณในการเตรียมพร้อมสนับสนุนของภาคเอกชน หลังจากนั้นจะมาพิจารณาว่าทางภาครัฐเองจะสามารถจัดสรรหรือสร้างความยืดหยุ่นของงบประมาณที่มีอยู่ได้อย่างไร ซึ่งจากการหารือวันนี้ก็เป็นแนวทางที่ดีมากๆ ผมก็อยากให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล โดยมีภาคเอกชนที่มีความเข้าใจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำพาการศึกษาไปสู้เป้าหมายการพัฒนา ส่วนข้อจำกัดต่างๆ ผมก็ให้ความมั่นใจว่า ทาง ศธ.เชื่อมั่นในภาคเอกชนที่เข้ามาว่าเขามีความตั้งใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง ฉะนั้น ข้อเสนอที่มองแล้วว่าเป็นประโยชน์ผมพร้อมจะผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะมีหลายๆ เรื่องที่ตรงกับที่ ศธ.กำลังปรับอยู่" รมว.ศธ.กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เฟสที่ 3 นั้น ขณะนี้มีกลุ่มบริษัทเอกชนที่อยากเข้ามาร่วมโครงการ แต่ผลงานที่ผ่านมา ศธ.ยังเห็นไม่ชัด และยังไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับการศึกษาอย่างเต็มที่ ฉะนั้น เมื่อถึงเวลาจะต้อชองสร้างให้เห็นชัดว่าประโยชน์ของการที่มีโรงเรียนร่วมพัฒนา และมีโครงการร่วมกันนั้นดีอย่างไร ซึ่งจะต้องประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นถึงผลงานแต่ละเรื่องที่เป็นผลดีกับการศึกษา และรีบขยายวงกว้างให้มากขึ้น เพราะมีแต่สิ่งดีๆ และโครงการนี้ไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนเข้ามาดูแล หากสามารถนำปัญหาทั้งหมดหรือข้อเสนอแนะมาเรียงลำดับในการวางรากฐานที่เป็นประโยชน์และถูกต้อง ก็จะสามารถเดินต่อไปได้ ตนจึงไม่กังวลว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีแล้ว รัฐมนตรีคนต่อไปจะเปลี่ยนหรือยกเลิกโครงการนี้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2563