ความสำคัญของการเกษียณอายุในการทำงาน .....
ถ้าสมมุติว่าเราจะดูกันตามรูปศัพท์ คำว่าเกษียณตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้นิยามเอาไว้ว่าเกษียณแปลว่าสิ้นไป แต่ว่าเป็นการสิ้นของอายุราชการใช้กับอายุราชการ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงเกษียณอายุเราก็มักจะหมายถึงการหมดกำหนดอายุราชการหรือว่าครบวาระอายุราชการทีนี้ตอนนี้เรามีการหมดวาระหรือหมดกำหนดอายุราชการกันไม่เหมือนเมื่อก่อน
เมื่อก่อนนี้ก็ 60 ปี เดี๋ยวนี้อาจจะมีที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า early retry หรือว่าเกษียณอายุก่อนอายุราชการที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นคนที่เกษียณอายุราชการก็อาจจะอายุไม่ถึง 60 ก็ได้ แปลว่าเขาหมดอายุราชการไปแล้วแต่เขาอาจจะไปมีอายุการทำงานอย่างอื่นอีกคือตอนนี้เวลาเราพูดถึงเกษียณอายุราชการหมายความว่า เราไม่มีอายุราชการอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่คิดว่าเขาไปทำอย่างอื่นดีกว่าเขาก็อาจจะขอเกษียณอายุราชการแต่มีอายุการทำงานในบริษัทหรือว่ามีกิจการเป็นของตัวเอง แต่ว่าทั่ว ๆ ไปเวลาเราพูดถึงคนเกษียณอายุที่เราเข้าใจกันมาเนิ่นนานก็จะหมายถึงคนที่อายุ 60 ปี สำหรับคนไทยเรา แต่ฝรั่งเขาอาจจะ 65 ปี
ความสำคัญของการเกษียณอายุในการทำงาน |
เมื่อก่อนนี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญ แต่ปัจจุบันให้ความสำคัญเพราะถือว่าคนที่ทำงานมานานอย่างน้อยกว่าจะอายุ 60 ปี เอานับคร่าว ๆ จบปริญญาตรีโดยทั่ว ๆ ไปก็อายุ 22 ปี ถ้าทำงานตั้งแต่ปริญญาตรีเลยก็ทำงานตั้ง 40 ปี เกือบจะเป็นครึ่งหนึ่งหรือค่อนหนึ่งของอายุชีวิตอายุเลย เพราะฉะนั้นถือว่าได้ทำงานมานาน ยิ่งถ้ารับราชการเราบอกแล้วข้าราชการทำงานเงินเดือนก็ไม่มากนักต้องอาศัยความรู้จักพอเพียงก็จะพออยู่พอกิน พอมีความสุขทำงานหนักทีเดียวเพราะว่าต้องทำงานเต็มที่เหมือนกับการทำงานในส่วนอื่น ๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นกว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถมาตลอดชีวิตหลังจากที่จบการศึกษาแล้วฉะนั้นถึงเวลาที่จะครบเกษียณหรือว่าหมดอายุราชการก็ควรจะเป็นเวลาที่ได้พักผ่อนได้ทำอะไรตามใจตัวเองซักทีนึงเพราะว่าในระหว่างที่อยู่ในอายุราชการก็จะมีเรื่องของตำแหน่งเรื่องของหน้าที่ เรื่องของบทบาทเข้ามาคอยกำกับดูแลว่าถ้าตำแหน่งอย่างนี้ต้องทำอย่างนั้นมีบทบาทแบบนั้นแบบนี้ ทีนี้ถ้าเราเกษียณอายุราชการแล้วเนี่ยเราจะออกไปทำงานส่วนตัวอยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่อยากจะทำอะไรก็ไม่ต้องทำมันก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีจนบางคนถึงกับบอกว่าการเกษียณอายุราชการนั้นเหมือนกับการได้มีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง
วิธีการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้มีความสุขของผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณอายุคือคนที่อายุ 60 ปีแล้ว ยิ่งเกษียณอายุมานานหลายปีอายุกว่า 60 ปี กว่า 70 ปี เป็นเรื่องที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีงานเยอะ ๆ มีตำแหน่งหน้าที่สูง ๆ ปกติแล้วทำงานเต็มที่ทุกวันเลย อยู่มาวันหนึ่ง พอวันที่ 1 ตุลาคมของปีที่อายุ 60 ปีครบ ก็ต้องอยู่เฉย ๆ บางคนยังทำใจไม่ได้ ยังเผลอแต่งตัวไปทำงานแล้วชีวิตก็ต้องอยู่นิ่ง ๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดว่าชีวิตต้องอยู่นิ่ง ๆ มันคงเศร้า เพราะฉะนั้นอย่าไปอยู่นิ่ง การทำร่างกายให้มีความสุขทำจิตใจให้มีความสุขคือเราจะต้องปรับตัวเองให้ได้ สิ่งแรกคือต้องปรับกิจนิสัยของตัวเองให้เหมาะกับวัยคือ กิจนิสัยในเรื่องของการกิน การนอน การออกกำลังกาย การเอาใจใส่ต่อสุขภาพและเรื่องของกิจนิสัยในการทำงานตลอดจนกิจนิสัยในการใฝ่รู้ แล้วก็ในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย เรื่องของการกิน ปกติเวลาเราไปทำงานบางคนในบางวันแทบจะไม่ได้กินเพราะงานยุ่งมาก เช่นประชุมเช้า ประชุมสาย ประชาบ่าย ประชุมเย็นบางวันค่ำก็ยังมี ตอนนั้นร่างกายก็ทำงานไป แต่พอเราอายุมากขึ้นระบบย่อยอาหารเรียกว่าเริ่มเข้าสู่สภาวะเสื่อมถอย เพราะฉะนั้นอาหารการกินที่จะบอกว่ากินอะไรก็ได้บางทีก็ชักจะไม่ค่อยดีแล้ว แล้วก็การเคลื่อนไหวก็ไม่รวดเร็วปรู๊ดปร๊าดเหมือนเมื่อก่อน การเผาผลาญของแคลอรี่ในร่างกายไม่มากมายเท่ากับคนหนุ่ม ๆ สาว ๆ ฉะนั้นต้องระมัดระวังในเรื่องของการรับประทานอาหาร พยายามกินอาหารที่เป็นประโยชน์ครบสารอาหาร 5 หมู่ แล้วก็ย่อยง่าย บางคนถึงกับแนะนำบอกว่าถ้ากินอาหารประเภทมังสวิรัตหรือกินเจได้ก็จะดี แต่ถ้ากินไม่ได้ก็กินอาหารที่ย่อยง่าย ๆ สำหรับการกินผักควรกินสลับกันระหว่างผักสดกับผักต้ม เพราะว่าจะได้ย่อยง่ายขึ้น นอกจากนั้นกินให้เป็นเวลาเพื่อที่จะให้กระเพาะอาหารได้มีโอกาสทำงานแล้วพักผ่อน ชีวิตช่วงนี้เป็นชีวิตที่ควรจะพักผ่อน
เรื่องของการนอนก็เป็นอีกเรื่องที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพกายที่มีความสุขพอสมควร ปกติแล้วถ้าเราเป็นเด็กหรือเป็นหนุ่ม ๆสาว ๆ เราอาจจะอดนอนได้เยอะมาก บางคืนนอน 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง แต่บางคนก็ต้องนอนเยอะมาก แต่สำหรับคนที่เกษียณอายุหรือพูดง่าย ๆ คนแก่ มีผู้ที่มีความสุขเขาแนะนำว่าอย่าไปห่วงมากกับการนอน จะนอนหลับหรือนอนไม่หลับอย่าไปห่วงมาก เอาว่าถ้าอยากนอนเมื่อไหร่นอนอยากตื่นนอนเมื่อไหร่ตื่น ชีวิตก็จะมีความสุขแล้วก็การที่เราไปทู่ซี้นอน โดยที่นอนไม่หลับมันกระสับกระส่ายและบางทีมันก็อาจจะทำให้ความคิดฟุ้งซ่าน สู้ถ้านอนไม่หลับเราก็ลุกขึ้นมาทำอะไรกุ๊ก ๆ กิ๊ก ๆของเราไป ค่อย ๆ ทำไปก็เพลิดเพลิน พอประเดี๋ยวง่วงก็ไปนอน มันก็หลับแล้วก็หลับสนิท การหลับสนิทเป็นการหลับที่ดีที่สุด ไม่ต้องนอนหลายชั่วโมงแต่หลับให้สนิท หลับให้ลึก ไม่ต้องหลับนานมาก แล้วนอกจากนั้นเรื่องของการเอาใจใส่ต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ถ้าหากเป็นหวัดไม่สบายหรือรู้สึกว่าร่างกายชักจะมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาคุกคามอย่าละเลยรีบไปหาหมอที่จริงไม่ใช่อะไร ไม่ใช่ว่าห่วงแต่ตัวเองเท่านั้นการที่เรารีบไปหาหมอเหมือนกับเราห่วงคนอื่นด้วย เขาจะได้ไม่ต้องมาดูแลเราเวลาที่เราเป็นอะไรหนัก ๆ มันจะกลายเป็นภาระเพราะฉะนั้น 1. อย่าให้เป็นภาระกับตัวเอง 2. อย่าให้เป็นภาระกับคนอื่น ฉะนั้นหมั่นดูแลรักษาตัวเอง แล้วเรื่องของการทำงานก็อย่าคิดว่าชั้นทำงานตลอดชีวิตแล้วเลิกทำซะที เพียงแต่ว่าอาจจะต้องเปลี่ยนงานที่ทำ อาจจะต้องไปหางานอดิเรกที่ชอบทำ แล้วก็ทำให้สบาย ๆ ไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องหมกหมุ่นครุ่นคิดอะไรมากนัก แต่ยังไงก็ตามอายุ 60 ปี เดี๋ยวนี้ถ้าเราไปดูจะเห็นว่าไม่แก่เลย ยังแจ่มใสแล้วก็ยังมีความรู้ความสามารถ เพราะฉะนั้นถ้าเราได้มีโอกาสที่จะใช้ความรู้ความสามารถของเราให้เป็นประโยชน์ตามที่เรามีความสุขคือไม่หักโหมแล้วก็ได้ทำบ้าง น่าจะทำให้สุขภาพจิตใจดี แล้วก็มีความสุขดีด้วย
นอกจากนั้นเรื่องของการใฝ่รู้ก็ยังจำเป็นอยู่ อย่าคิดว่าคนแก่แล้วไม่ต้องใฝ่รู้ เขาบอกว่าThere is no one to old to learnคือไม่มีใครแก่เกินเรียน ฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเกษียณอายุแล้วยังมีความรู้อีกเยอะแยะที่เราสามารถที่จะใฝ่หามาประดับสมองหรือว่าประดับสติปัญญาของเราได้ อย่างน้อยที่สุดความรู้เรื่องของการระวังรักษาสุขภาพ ในเรื่องของการทำจิตใจให้แจ่มใส ในเรื่องของการปรับตัวให้อยู่กับลูกหลานได้อย่างมีความสุข อันนี้สำคัญมากอาจจะเป็นเรื่องของสุขภาพจิตทีเดียว เพราะว่าบางทีเราห่วงลูกหลานเขามากไป ลืมไปว่าเขาโตแล้ว พอไปพูดในสิ่งที่เราคิดไม่ตรงกับเขาก็จะทะเลาะกัน ทำให้เกิดความไม่ประทับใจ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่กับคนอื่นได้อย่างมีความสุขก็สุขกายสบายใจ ข้อสำคัญเรามองข้ามไม่ได้คือเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย เพราะว่าคนเกษียณอายุต้องยอมรับว่าโอกาสที่จะหาเงินหาทองอย่างสมัยเมื่อเราหนุ่ม ๆ สาว ๆ ยาก เพราะฉะนั้นนิสัยของเราที่เคยจับจ่ายใช้สอยมากอาจจะต้องพอประมาณพอเท่าที่เงินในกระเป๋ามีอยู่จะได้ไม่เป็นภาระของใคร แล้วข้อสำคัญอย่างขี้เหนียวมากจนเกินไป อย่าขี้เหนียวมากบางคนกลัวไม่มีเงินใช้ขี้เหนียว ไม่กินไม่ใช่คืออย่าเบียดเบียนตนเองต้องบอกว่าพอเพียงน่ะดีที่สุด ทำยังไงให้เรามีแล้วก็ใช้เท่าที่เรามีแล้วก็มีความสุขด้วย
ข้อแนะนำพิเศษสำหรับผู้ที่เกษียณอายุ |
เตรียมได้ตลอดชีวิตเป็นคติเตือนใจ เช่น เราต้องรู้จักพอใจในสิ่งที่มี ต้องรู้จักยินดีในสิ่งที่ได้เราอายุเท่านี้เรามีชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างนี้เราพอใจแล้ว แล้วก็ลูกหลานเขาให้การดูแลเอาใจใส่ได้แค่ไหนก็ยินดีในสิ่งที่ได้รับอย่าไปเรียกร้องเกินกว่าเหตุเพราะเขาก็ต้องมีชีวิตของเขา แล้วก็อย่ามัวแต่อาลัยในอดีตที่ผ่านไปหรือห่วงใยอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เพราะว่าอนาคตของเรานี้เป็นอนาคตที่น่าจะสุขสงบ ถ้ามันไม่สุขไม่สงบบ้างก็อย่าไปห่วงมันเลย แล้วก็อย่าไปอาลัยอดีตที่รุ่งเรืองเพราะมันผ่านไปแล้ว เก็บเอาไว้เก็บเอาอดีตที่ดี ๆ ไว้เป็นความสุขกับชีวิตก็พอแล้ว แล้วข้อสำคัญที่สุดก็คือจงมองข้างหน้าอย่างมีหวังและมองข้างหลังอย่างภูมิใจ.
ขอบคุณที่มาข้อมูลwww.stou.ac.th/study