คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ มีมติเห็นชอบปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำครูและผู้บริหารโรงเรียนเอกชน เพื่อเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ หรือเงินทุนเลี้ยงชีพ ช่วงโควิด-19
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ได้มีดำริให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้หาแนวทางในการช่วยเหลือผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรของโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 นั้น
ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ซึ่งมีตนเป็นประธานการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) ช่วงโควิด-19 ดังนี้ 1. ยกเลิกดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้บริหาร ครู และบุคลากรของโรงเรียนเอกชน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ต.ค.2563 2.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการที่ 3
และ 4 จากเดิมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 4.5 ต่อปี ลดเหลือร้อยละ 4 ต่อปี และ 3.เห็นชอบให้ปล่อยสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการที่ 5 วงเงิน 3,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี และสามารถกู้เงินได้ไม่เกินร้อยละ 90 ของสะสมและเงินสมทบ ทั้งนี้จะทำให้ผู้ขอกู้ในแต่ละรายได้รับการพิจารณาวงเงินกู้ไม่เท่ากัน
ประธานคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ที่จะขอเข้าร่วมรับสินเชื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการที่ 5 นี้ จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากโครงการที่ 4 ซึ่งเดิมจะต้องบรรจุเป็นผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชนที่มีอายุงาน 10 ปี แต่โครงการ 5 นี้ได้มีการปรับลดอายุงานเหลือเพียง 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ขึ้นไปก็สามารถเข้าร่วมโครงการ 5 นี้ได้แล้ว
ทั้งนี้เพื่อเป็นการขยายสิทธิ์ให้กับสมาชิกที่มีอายุงาน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ให้ได้มีสิทธิ์กู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการดังกล่าว นอกจากนี้ยังสามารถกู้สินเชื่อได้สูงสูดถึง 90% ของเงินสะสมที่ได้สะสมไว้กับกองทุนสงเคราะห์ ร้อยละ 3 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ในขณะที่โครงการ 4 เดิม กู้สินเชื่อได้สูงสุดเพียง 80% ทั้งยังมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.5 ต่อปี นอกจากนี้ยังกำหนดระยะเวลาในการผ่อนชำระเงินกู้ได้นาน 1-10 ปี
ในขณะที่โครงการที่ 4 กำหนดให้มีระยะเวลาในการผ่อนชำระได้เพียง 1-5 ปีเท่านั้น ถือเป็นการผ่อนชำระที่ยาวขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักในการผ่อนชำระในแต่ละเดือนมากจนเกินไป มีเงินเดือนเหลือมากพอในการใช้จ่ายในแต่ละเดือน
“การที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ได้อนุมัติสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการที่ 5 รวมทั้งแนวทางในการช่วยเหลือผู้บริหาร ครู และบุคลากรโรงเรียนเอกชนในครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถช่วยเพื่อนผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชนที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ได้ในระดับหนึ่ง โดยผู้ที่เดือดร้อนและประสงค์จะขอรับสินเชื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการที่ 5 นี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อขอรับสินเชื่อดังกล่าวได้ที่กองทุนสงเคราะห์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป” นายประเสริฐ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 22 เมษายน 2563