มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดโครงการ Digital Literacy Enrichment รุ่น 2 ปี 2563 พัฒนาศักยภาพครูเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จำนวน 30 คน เพื่อเรียนรู้ทักษะทางดิจิทัลอย่างเท่าทันและปรับใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการเรียนการสอนและการจัดการการศึกษาในโรงเรียน โดยมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกอบด้วย อาจารย์ผนวกเดช สุวรรณทัต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อาจารย์เมตตา มงคลธีระเดช และอาจารย์ไพฑูรย์ อนันต์เขต เป็นวิทยากร พร้อมด้วยดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิฯ ดร.ชวิน จันทเสนาวงศ์ มธจ. ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ สถาบันรามจิตติ และคณะทำงานมูลนิธิฯร่วมสนับสนุนการเรียนรู้ เมื่อวันที่ 7-10 เม.ย.ที่ผ่านมา
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า โลกเปลี่ยนไปเร็วมากและเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่กำลังเปลี่ยนการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้ครูได้เรียนรู้เท่าทันและเข้าใจถึงเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้ต่อการใช้ชีวิตในสังคม เข้าถึงความรู้ และสร้างสรรค์การเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของครูของผู้เรียน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยหรือเพื่อสร้างคุณค่าในการเรียนรู้ และเป็นพลังการเรียนรู้ให้กับพื้นที่ห่างไกล ท่ามกลางความท้าทายของการเรียนรู้ที่หลากหลายในบริบทที่ต่างกัน ยิ่งในสถานการณ์ยากลำบากอย่างสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ก็ไม่ตัดขาดการเรียนรู้
สำหรับกิจกรรมอบรม Digital Literacy Enrichment รุ่นที่ 2 ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงเน้นการอบรมปฏิบัติการผ่าน Moodle platform ให้ครูได้เรียนรู้ผ่านบทเรียน 5 เรื่อง ได้แก่ 1) ทักษะคอมพิวเตอร์พื้นฐาน 2) แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ 3) ความปลอดภัยออนไลน์ 4) เทคโนโลยีวิดีโอเพื่อการเรียนรู้ 5) ปัญญาประดิษฐ์ ผ่านโปรแกรม และ Zoom การพัฒนาสื่อการสอนผ่าน kaimooc.com และการใช้งาน Code เพื่อสร้างบทเรียนสำหรับตนเอง รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (social online) เพื่อการเรียนรู้ในช่วงวิกฤตรับมือสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 และการเตรียมการเรียนการสอนทางไกลสำหรับช่วงเปิดเทอมอีกด้วย
นอกจากนี้ยังสร้างความคุ้นเคยกับดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น การสร้างและใช้ QR Code การสร้างสื่อการสอนประเภทวีดิทัศน์ การเผยแพร่สื่อการสอนผ่าน Podcasts และสื่อสังคม (Social media) การถ่ายทอดสด (Live) การวิเคราะห์ข่าวปลอม การป้องกันและรับมือการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbully) รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูในกลุ่มที่มีประสบการณ์และบริบทของสังคมที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมแก่การเรียนการสอนในโรงเรียนที่ขาดแคลน