16 พ.ค.นี้ศธ.ทดสอบระบบเรียนออนไลน์
รมว.ศึกษาธิการ ถก ผู้บริหารศธ.วางแผนรับมือการจัดการศึกษาออนไลน์ เผย 16 พ.ค.นี้ พร้อมทดสอบระบบการเรียนการสอนออนไลน์ทั้งหมด
เมื่อวันที่ 14 เม.ย.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาออนไลน์ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีความเกี่ยวโยงเรื่องการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อะไรบ้าง เช่น ระบบการเก็บข้อมูล เป็นต้น
เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน และวางกรอบทิศทางการบริหารจัดการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมถึงเตรียมความพร้อมช่องทีวีดิจิทัลที่จะใช้เผยพร่การเรียนการสอนระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาปีที่ 3 และการใช้โทรทัศน์ทางการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ดีแอลทีวี) ในการออกอากาศร่วมด้วย ดังนั้นภาพรวมการใช้งานผ่านระบบดังกล่าวมีความพร้อมเกือบ 90% แล้ว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเนื้อหาการเรียนการสอนนั้นก็ดำเนินการใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ซึ่งหากเนื้อหาที่ต้องใช้เผยแพร่ผ่านสมาร์ทโฟนก็ต้องทำให้เกิดความกระชับและเข้าใจง่าย โดยระดับชั้นม.4-6 ที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนหรือการใช้แท็บเล็ตมาเสริมการเรียนแล้วนั้น ในกลุ่มเด็กเหล่านี้จะเรียนผ่านทีวีดิจิทัลส่วนหนึ่ง
และอีกส่วนหนึ่งต้องเช็คอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนว่าตอนนี้มีอุปกรณ์อยู่เท่าไหร่ ซึ่งศธ.จะใช้ช่วงเวลานี้ไปจนถึงก่อนเปิดภาคเรียนเดือนก.ค.ในการสำรวจอุปกรณ์เสริมว่ายังขาดเหลือจำนวนเท่าไหร่บ้าง ดังนั้นวันที่ 16 พ.ค.เป็นต้นไปถือเป็นการทดสอบระบบการเรียนออนไลน์ทั้งหมดจากนั้นจะดูภาพรวมว่ามีพื้นที่ไหนที่ขาดเหลืออุปกรณ์เสริมบ้าง เช่น นักเรียนมีสมาร์ทโฟนแต่ไม่สามารถเชื่อมต่อกับทีวีได้ เพราะไม่รองรับ เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ศธ.จะเช็คระบบอุปกรณ์เสริมทั้งหมด เพื่อนำมาประมวลผลอุปกรณ์ที่ต้องใช้ทดแทนในงบประมาณที่เหมาะสมต่อไป
“หนังสือเรียนที่เด็กจะต้องใช้จะประกอบการเรียนไปด้วยนั้นส่วนหนึ่งจัดส่งไปถึงโรงเรียนแล้ว โดยในวันที่ 16 พ.ค.โรงเรียนแต่ละแห่งก็จะกระจายหนังสือเรียนให้แก่ผู้ปกครองไปดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ผมพยายามบริหารจัดการการศึกษาออนไลน์ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดในช่วงวิกฤตนี้
และขอย้ำว่าในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เท่านั้นที่เราต้องใช้การเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เป็นมาตรการหนึ่งของการสกัดการแพร่ระบาด ซึ่งการเรียนการสอนกับครูผู้สอนในห้องเรียนยังมีความจำเป็นและเชื่อว่าหากสถานการณ์ดีขึ้น โรงเรียนก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติของการเรียนการสอนอย่างแน่นอน” นายณัฏฐพล กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 14 เมษายน 2563