จดหมายเปิดผนึกถึง รมว.ศธ.
สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย
8 เมษายน 2563
กราบเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ตามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถติดต่อโดยการแพร่กระจายละอองฝอยของเชื้อโรคเหมือนเชื้อกลุ่มไข้หวัด และการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ทำให้ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตประชาชน ประกอบกับในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคทั้งยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนเป็นกลุ่ม หรือการรวมตัวกันของคนหมู่มาก จึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอเลื่อนการเปิดภาคเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เป็นวันท่ี 1 กรกฎาคม 2563 โดยกระทรวงศึกษาธิการจะได้ประสานงานกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ถึงความเหมาะสมในวิธีการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับนโยบายโดยรวมของประเทศต่อไป และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบในข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการ นั้น ส.บ.ม.ท.รู้สึกยินดีที่ ท่าน รมว.ศธ.ได้นำเรื่องเสนอ ค.ร.ม.และได้ความชัดเจนว่าให้เลื่อนการเปิดภาคเรียนไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ส.บ.ม.ท. ขอกราบเรียนเสนอแนะเพิ่มเติมดังนี้
1. ขอความอนุเคราะห์ให้ ท่าน รมว.ศธ.ได้กรุณาลงนามประกาศจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด โดยเร็วที่สุดเพราะการเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษาจะทำให้มีหน่วยงานช่วยเหลือประสานงานการจัดการเรียนการสอน ออนไลน์ ให้กับโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดและยังจะเป็นที่ตั้งเครือข่ายในการช่วยเหลือดูแลโรงเรียนขยายโอกาสในจังหวัดนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งขาดความพร้อมในเรื่องทรัพยากรบุคคลและสื่อเทคโนโลยี อีกทั้งเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐที่ขอให้ประชาชนอยู่ในจังหวัดของตัวเองไม่เคลื่อนย้ายออกนอกจังหวัด หากยังคงให้เขตพื้นที่การศึกษาดูแลจัดการศึกษามากกว่าหนึ่งจังหวัดก็จะทำให้ประสิทธิภาพการจัดการศึกษาลดลงอย่างยิ่งเนื่องจากการติดต่อประสานงาน การนิเทศติดตาม ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่สามารถทำได้ การไม่ให้จังหวัดที่มีจำนวนโรงเรียนไม่มากเป็นเขตพื้นท่ีการศึกษาจังหวัดนั้นเป็นการตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของประชากรในจังหวัด ทั้งนี้ควรพิเคราะห์ถึงจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดของตัวเองเป็นสำคัญ โรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษาก็จะเสียโอกาสทางการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือในทางปฏิบัติแล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็มิได้มีหลักประกันอะไรว่าจะสิ้นสุดการแพร่ระบาดก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563แต่อย่างใด
2. ขอความอนุเคราะห์ให้ท่าน รมว.ศธ. ได้โปรดดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค) ได้จัดทำแผนช่วยเหลือครูและบุคคลการทางการศึกษาที่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพและทางด้านเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)เนื่องจากครูและบุคลากรทางการศึกษาล้วนแล้วแต่มีอาชีพเสริมทั้งในด้านการเกษตร และธุรกิจอื่นๆที่ต้องมีการลงทุน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ย่อมทำให้เกิดความเสียหาย ทุนที่ลงไปไม่ก่อให้เกิดรายได้เเละกลายเป็นหนี้เพิ่ม หลายคนได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาลงทุนก็ประสบปัญหาในเรื่องการชำระหนี้ ดังนั้นหาก สกสค ได้นำเสนอแผนในการช่วยเหลือครูในวิกฤติครั้งนี้อย่างครบวงจร อย่างน้อยก็จะทำให้ครูเกิดความรู้สึกว่าองค์กรนี้มีไว้แล้วเกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตครู การบริหารองค์กรเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้านสุขภาพนั้นก็ควรมีการสำรวจผ่านทาง สกสค จังหวัดว่ามีคุณครูและบุคลากรทางการศึกษารายใดบ้างที่เป็นผู้ติดเชื้อโรคนี้แล้วอยู่ในระหว่างการรับการบำบัดรักษาของโรงพยาบาลและ สกสค จะมีแนวทางช่วยเหลือและจัดสวัสดิการให้ครูเหล่านี้อย่างไร การคิดแค่เพียงจะเอาเงินกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครูซึ่งมีอยู่ประมาณสี่พันกว่าล้านบาทไปชดใช้หนี้ให้องค์การค้าคุรุสภาที่เกิดจากการบริหารองค์กรที่ล้มเหลวนั้น ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง
3. สั่งการให้งดการประเมินคุณภาพภายนอก ของ สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) ในปีนี้ เนื่องจากการที่ สมศ.ประกาศยืนยันว่าจะเข้าทำการประเมินโรงเรียนหลังจากที่โรงเรียนเปิดภาคเรียนทั้งๆที่ได้มีการร้องขอให้เลื่อนการประเมินแล้วก็ตาม ก็จะเป็นการกดดันให้โรงเรียนสั่งการให้คุณครูไปปฏิบัติหน้าท่ีที่โรงเรียนเพื่อเตรียมการรับการประเมินเช่นเตรียมการวางแผนจัดพื้นที่รับการประเมิน เตรียมการเคลื่อนย้ายเอกสารร่องรอยการดำเนินการให้อยู่ในสถานท่ีที่จะรับการประเมิน เตรียมการมอบหมายให้บุคคลากรรายใดกลุ่มใดนำเสนอเนื้อหาการรับการประเมินฯลฯ การยืนยันว่าจะเข้าประเมินทั้งๆที่รู้ว่าจะเป็นเหตุให้คุณครูต้องออกจากบ้านไปโรงเรียนในช่วงนี้และเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นำเชื้อไปเผยแพร่ในครอบครัว และยังเป็นการสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญ ดังนั้นส.บ.ม.ท.ขอเสนอให้รัฐบาลนำงบประมาณที่จะใช้ในการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ไปเป็นงบประมาณในการจัดทำ จัดซื้อจัดหา สื่อการเรียนการสอน online ที่มีคุณภาพต่อผู้เรียน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเห็นได้ชัด รูปแบบการจัดการบริหารจัดการ เรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป ทรัพยากรการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมมีความสำคัญมากกว่าที่จะไปค้นหาและประเมินอดีตที่จะส่งผลต่อปัจจุบันได้น้อย
4. ขอความอนุเคราะห์ รมว.ศธ สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำสื่อเทคโนโลยี ซอฟท์แวร์ที่เหมาะสมในการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ ประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงอื่นๆรวมถึงมหาวิทยาลัยในการผลิตสื่อเทคโนโลยี่เพื่อการเรียนการสอน online และในระยะเวลาเร่งด่วนนี้ อาจจัดงบประมาณในการซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปจากภาคเอกชนที่ทำสำเร็จ มีใช้อยู่แล้วและเป็นที่ยอมรับว่ามีประโยชน์ต่อการเรียนการสอน เพื่อให้โรงเรียนนำไปใช้
5. การจัดการเรียนการสอนด้วยสื่อเทคโนโลยีในระหว่างที่ถือว่าคุณครูและนักเรียนปฏิบัติหน้าท่ีที่บ้านนั้น ขอให้คำนึงถึงโรงเรียนระดับประถมศึกษา ที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆที่ขาดแคลนสื่อด้วยว่าจะเยียวยาบุคคลกลุ่มนี้อย่างไรให้ไม่เป็นผู้ได้ชื่อว่าเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
6. เนื่องจากการที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันท่ี 1 กรกฎาคม 2563 และอาจจะไม่มีการปิดภาคเรียนในครั้งต่อไปเพื่อชดเชยกับการเปิดภาคเรียนครั้งนี้ล่าช้านั้น ส.บ.ม.ท. เห็นว่าเพื่อไม่ให้เป็นการกระทบกระเทือนในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้คุณครูอัตราจ้างและพนักงานราชการจึงเห็นควรให้ ศธ ไม่ถือว่าช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2563 เป็นช่วงเวลาปิดภาคเรียนแต่ให้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ครูอัตราจ้างและพนักงานราชการปฏิบัติหน้าท่ีราชการในรูปแบบ Work from home
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
รัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ( ส.บ.ม.ท.)