"ลุงตู่"ห่วงการเรียนเด็ก สั่งศธ.ชงวางแผนสอนออนไลน์
นายกฯ สั่งปรับการสื่อสารปชช.สถานการณ์โควิด-19 ให้กระชับไม่ซ้ำซ้อน ห่วงการเรียนเด็กๆ สั่งรมว.ศธ.วางแผนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ชงครม.อังคารนี้
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังมีการประกาศเคอร์ฟิว และการแก้ไขปัญหาหลังเกิดความวุ่นวายที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ทั้งหมดได้เข้ารายงานตัวครบทั้งหมดแล้ว
และได้มีการหารือกับนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พร้อมด้วยนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อปรับการสื่อสารให้เป็นทิศทางเดียวกัน กระชับ ไม่ซ้ำซ้อนและทันเหตุการณ์
รวมถึงนายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้เข้าหารือนายกฯถึงมาตรการรับมือการเรียนการสอน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังแพร่ระบาด โดยนายณัฎฐพล เปิดเผยว่า นายกฯได้ให้นโยบายเรื่องของการเรียนการสอนในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อเชื่อมโยงมาตรการรับมือในอนาคต
เนื่องจากนายกฯเป็นห่วงเด็กๆ และให้ครูมีเวลาปรับตัว อย่าไปคิดว่าจะมีวัคซีนเมื่อไหร่ เพราะการศึกษาหยุดรอไม่ได้ ต้องวางแผน อยากให้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ทั้งครูอาจารย์ และนักเรียน นักศึกษา โดยให้หาแนวทางที่เหมาะสมและคุ้มค่า โดยนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้ โดยนายกฯให้ไปดูว่ามีอะไรที่จำเป็นบ้าง อย่างเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนการสอน
เพื่อเตรียมให้พร้อม การใช้งบประมาณต้องคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สำคัญอย่าให้เป็นภาระผู้ปกครองโดยไม่จำเป็น อย่าสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ซึ่งรายละเอียดมาตรการการเรียนการสอน จะเสนอเข้าที่ประชุมครม.วันที่ 7 เม.ย.
นายณัฏฐพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การสอนออนไลน์แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มต่ำกว่า ป.6 และกลุ่ม ม.1 ขึ้นไป ซึ่งแตกต่างกัน โดยกลุ่มต่ำกว่า ป.6 สอนทางเดียว ส่วนกลุ่ม ม.1 ขึ้นไป จะต้องสอน 2 ทาง ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ ความเข้าใจของครูผู้สอนด้วย นายกฯระบุว่าต้องให้ครูมีเวลาปรับตัวด้วย และในตอนนี้อย่าไปคิดว่าจะมีวัคซีนเมื่อไร
เพราะการศึกษาหยุดรอไม่ได้ ต้องวางแผน อย่างประเทศจีนที่แม้จะมีการเปิดห้างสรรพสินค้าแล้ว แต่สิ่งเดียวที่ยังไม่เปิดคือโรงเรียน เพราะต่อให้มีวัคซีนโรงเรียนก็ยังเป็นจุดที่ต้องระมัดระวัง มีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เราไม่อยากให้เกิดแพร่เชื้อ จึงจะเอาเทคโนโลยีมาช่วยเรื่องการสอน ซึ่งจริงแล้วเรามีแผนอยู่แล้วว่าจะใช้งบปี 65 แต่ตอนนี้คงต้องดึงกระบวนการทั้งหมดเข้ามาเร็วขึ้น
เนื่องจากการสอนลักษณะนี้ต้องใช้อุปกรณ์ ถ้าตัดสินใจเร็วจะช่วยเรื่องการเตรียมอุปกรณ์ เพราะทุกประเทศคงคิดเหมือนกันและจะต้องใช้อุปกรณ์เหมือนกัน จึงต้องชิงทำก่อน ซึ่งนายกฯเห็นดีด้วย ส่วนรายละเอียดต้องรอนำเสนอครม.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 6 เมษายน 2563