แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่อุทัยธานีก็จัดว่าเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่มาก สิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อให้จังหวัดอุทัยธานีเป็นที่รู้จักก็คือ “งานหัตถกรรมผ้าทอ” จากพื้นที่อำเภอบ้านไร่ ที่เรียกได้ว่ามีอาชีพทอผ้ากันทั้งอำเภอ
แต่ทว่านับวันช่างฝีมือทอผ้ารุ่นหลังมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ หากไม่มีผู้สืบทอดอย่างต่อเนื่องภูมิปัญญาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของชุมชนแห่งนี้ก็อาจสูญหายไปตามกาลเวลาได้
ที่ บ้านนาตาโพ ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านไร่ เป็นชุมชนไทยเชื้อสาย “ลาวครั่ง” มีการทอผ้าเกือบทุกครัวเรือน ที่พิเศษไปกว่านั้นในชุมชนแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้และ “พิพิธภัณฑ์เรือนผ้าย่ายาย” ของ “ป้าจำปี ธรรมศิริ” ศิลปินทอผ้าเจ้าของรางวัลระดับอาเซียน (Asian Selections 2016) และได้รับการยกย่องเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2560 จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ซึ่งอุทิศตนถ่ายทอดความรู้ด้านการทอผ้าโดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน และยังเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้การทอผ้าตั้งแต่พื้นฐานจนกระทั่งสามารถนำเอาไปประกอบอาชีพในภายหน้าได้
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้เช่นนี้ทำให้เด็กๆ กลุ่มหนึ่งให้ความสนใจในการเรียนรู้การทอผ้าอย่างจริงจัง จึงร่วมกันดำเนินงาน โครงการ “สมองสั่งลาย หัวใจสั่งทอ” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. โดยเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เรียนรู้และสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ
ด.ช.ธนกฤต ธรรมศิริ นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านหน้าฝายบึงตาโพ แกนนำและเป็นหลานย่าจำปี ธรรมศิริ เล่าว่าเริ่มแรกช่วยงานแม่ซึ่งเรียนรู้การทอผ้ามาจากย่าอีกทอดหนึ่ง จึงเริ่มเรียนรู้วิธีการทำงานจากทั้งสองคน แม้ในตอนแรกจะไม่ได้ชอบนัก แต่เมื่อได้คลุกคลีงานทอผ้ามากขึ้นก็รู้สึกชอบ จึงชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมเรียนรู้ ขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในหลักสูตร “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของโรงเรียน ทำให้มีนักเรียนที่มาเรียนทอผ้าชั้น ป.4-ป.6 ในวันพุธ จำนวน 40 กว่าคน โดยมีแม่ของเขาเป็นผู้ช่วยในการฝึกสอน
“ในวันปกติจะมากันหลายคน แต่ในวันเสาร์คุณแม่จะนัดแนะว่าใครสนใจมาเรียนบ้าง ก็จะมีผู้ปกครองพามาเรียนครึ่งวัน คุณย่าจำปีก็จะได้ดูแลตัวต่อตัว โดยมีคุณแม่เป็นผู้ช่วย และมีการทำอาหารเลี้ยงด้วย” ธนกฤต กล่าว
ทางด้าน ด.ญ.พรไพลิน จำนงค์ ชั้น ป.6 แกนนำนักเรียนอีกรายเล่าว่าได้เข้ามาเรียนการทอผ้าตั้งแต่ชั้น ป.4 และรู้สึกชอบการทอผ้า สนใจที่จะมาเรียนรู้เพิ่มเติมในวันเสาร์จนสามารถทอผ้าได้เป็นผืน สามารถช่วยงานดูแลรุ่นน้องเมื่อมาเรียนทอผ้า ตั้งแต่การเตรียมด้าย และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับทอผ้า พัฒนาการที่เรียนรู้จากการทอผ้าทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มอื่นๆ ในโอกาสต่างๆ อีกด้วย
“หนูคิดว่าความรู้ที่ได้จากการเรียนทอผ้าครั้งนี้ สามารถต่อยอดทำเป็นอาชีพในอนาคตได้ ทำให้มีความรู้ไว้สอนรุ่นลูกรุ่นหลานด้วย ตอนนี้ยังเรียนรู้ได้ไม่หมดแต่จะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ยังไม่ถึงขั้นออกแบบลวดลายได้ แต่เคยคิดว่าถ้าโตขึ้นอาจจะนำการทอผ้าไปเป็นอาชีพ หรืออาจจะออกแบบลายผ้าเป็นของตัวเอง” พรไพลิน กล่าวและยืนยันว่าแม้จะไปเรียนต่อโรงเรียนอื่นแล้วก็จะกลับมาฝึกฝนการทอผ้าอีก
ขณะที่ ด.ญ.พลอยณิชา ทับทิม นักเรียนชั้น ป.5 เล่าว่าได้เรียนรู้การทอผ้าขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์สำหรับทอผ้า สามารถทอผ้าเป็นผืนได้ และช่วยดูแลรุ่นน้องที่มาเรียนทอผ้าในวันปกติได้ เนื่องจากได้มาเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์ หวังว่าจะเรียนรู้ไปจนสามารถออกแบบลวดลายด้วยตนเอง และนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้
ป้าจำปี ธรรมศิริ ครูภูมิปัญญาด้านการทอผ้าแห่งบ้านนาตาโพ ผู้ให้โอกาสเด็กๆ ได้เข้ามาเรียนรู้การทอผ้า เล่าว่าอยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทอผ้าเพื่อจะได้มีอาชีพในภายหน้า อย่างน้อยก็จะได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ไม่ไปสร้างปัญหาให้กับสังคม และเห็นว่าในชุมชนแห่งนี้แม้ทุกบ้านจะมีกี่ทอผ้า แต่เด็กๆ ไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการทอผ้าได้เพราะผู้ใหญ่เกรงว่าจะไปทำให้เกิดความเสียหายต่อผ้าที่ขึ้นลวดลายไว้ แต่ที่นี่จะสอนให้หมดทุกอย่างสำหรับผู้ที่สนใจจริงจัง
“กับเด็กๆ ป้าก็สอนตามประสาเด็กๆ ให้เขาได้เล่น ให้รู้จักก่อน ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างหลานอยู่ชั้น ป.5 (ธนกฤต) ม้วนด้ายกรอด้าย เอาด้ายขึ้นกี่ ดึงหูกได้ นี่คือจบการเล่น ตอนนี้เขาเริ่มเป็นแล้วก็ช่วยสอนรุ่นน้องได้ ในรุ่นนี้ที่เห็นมีแววก็หลายคนอยู่นะ” ป้าจำปี ครูภูมิปัญญาเจ้าของรางวัลระดับอาเซียน กล่าว
นอกจากจะเปิดพิพิธภัณฑ์และศูนย์เรียนรู้ที่สร้างจากงบประมาณส่วนตัว โดยไม่ได้มุ่งหวังในเชิงพาณิชย์เพราะอยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อเด็กรุ่นหลังจะได้มีความรู้จะติดตัวนำไป ในภายหน้าได้ ขณะเดียวกันก็ยังเดินทางไปให้ความรู้สอนตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับที่สามารถออกแบบลายผ้าด้วยตนเองก็มี
“เราก็มีความสุข ได้ความสุข ทำอะไรเราก็ต้องทำให้มีความสุข ให้เด็กได้มีความสุขด้วย ของอย่างนี้มันซื้อไม่ได้ ทำไปเถอะสอนเด็กไปเถอะได้ความสุข มันไม่ได้ยุ่งยากอะไร อย่าไปหวังอะไรเลย ถ้าเราไปหวังก็จะคิดมาก” ป้าจำปี ระบุ
นับเป็นความโชคดีของเด็กๆ ที่ชุมชนบ้านนาตาโพแห่งนี้มีครูภูมิปัญญาท้องถิ่นผู้ทรงความรู้เชี่ยวชาญการทอผ้าอย่างแท้จริง เป็นต้นทุนความรู้ท้องถิ่นอันล้ำค่า และยังเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่พร้อมที่จะมอบสิ่งดีๆ เพื่อสร้างให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ ทุกคน.