“มท.” ทำหนังสือด่วนถึงผวจ. ทั่วประเทศ วาง 5 มาตรการ ป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่หมู่บ้าน-ชุมชน
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งมาตรการป้องกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด - 19) เข้าสู่หมู่บ้าน/ชมชน โดยมีเนื้อหาระบุว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด - 19 มีแนวโน้มการแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเข้าสู่หมู่บ้าน/ชุมชน ตลอดจนเพื่อป้องกันกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ง่ายต่อการติดเชื้อที่อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน จึงขอให้จังหวัดแจ้งอำเภอ เพื่อแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแจ้งเทศบาล ดำเนินการในการค้นหาและเฝ้าระวังคนในพื้นที่หมู่บนชุมชน ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ทุกแห่งในอำเภอ ดังนี้
1.มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อเช้าสู่หมู่บ้าน/ชุมชน
1.1 การคัดกรองผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บูรณาการความร่วมมือของบุคลากรในหมู่บ้านชุมชน ทุกภาคส่วน ได้แก่ ข้าราชการ สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน/ชุมชน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ฯลฯ ร่วมกันค้นหาและคัดกรอง ว่ามีคนในหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง เข้ามาพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชุมชน หรือไม่ดังนี้
(1) ผู้ที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร จากต่างประเทศ จากประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีการเดินทางไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัดเบียดเสียด ได้แก่ สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า สนามชนโค สนามชนไก่ สถานบันเทิง หรือการไปร่วมกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ฯลฯ ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.63 เป็นต้นมา
(2) ผู้ที่อยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไววัสโควิด- 19 หรือไปร่วมอยู่ ในสถานที่ที่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 ไปปรากฏตัว
1.2 การปฏิบัติในกรณีที่หมู่บ้าน/ชุมชนใดมีผู้ที่เข้าข่ายตามข้อ 1.1 ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อเฝ้าติดตามสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และให้ขอความร่วมมือผู้นั้นให้งดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ นอกหมู่บ้าน/ชุมชนไว้ก่อนหรือพักอาศัยอยู่แต่ในบนเรือนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน และให้รายงานข้อมูลดังกล่าวให้เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อติดตาม และเฝ้าระวัง และให้ส่งข้อมูลให้อำเภอทราบเพื่อบันทึกข้อมูลข้าระบบรายงาน
2.มาตรการระวังโรคติดต่อภายในมู่บ้านชุมชน
2.1 การแจ้งเตือนราษฎรในหมู่บ้าน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ แจ้งเจ้าบ้าน หรือผู้ดูแลบ้าน ให้ปฏิบัติตามมาตรา 31 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ว่า กรณีมีผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยเป็นโรคติดเชื้ออยู่ในบ้านให้รีบแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อโดยทันที และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ
2.2 กรณีบุคคลที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร จากต่างประเทศ จากประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีการเดินทางไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัดเบียดเสียดตาม ข้อ 1.1 (1) มีอาการป่วย ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบทันที เพื่อเข้ารับการรักษาและประเมินอาการว่าเข้าข่ายสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 หรือไม่ หากเข้าข่ายสงสัยว่าจะติดเชื้อให้ดำเนินการตามมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด
2.3 กรณีบุคคลที่เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด- 19 หรือไปร่วมอยู่ในสถานที่ที่ผู้ป่วยคิดเชื้อไวรัสโควิด - 19 ไปปรากฏตัว ตามข้อ 1.1 (2) ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทราบทันที เพื่อดำเนินการตามมาตรการคัดกรอง แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด
2.4 กรณีมีคนในหมู่บ้าน/ชุมชนได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการกับผู้ที่อยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วยตามแนวทางในข้อ 2.3 และให้แจ้งเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลเข้าไปดำเนินการทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อไปทำกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโดยเร็ว
3. การป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้าน/ชุมชน ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้าน(อสม.) ให้คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ในหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ง่าย ให้หลีกเลี่ยงการพบปะ และสัมผัสกับบุคคลที่เดินทางกลับจาก กรุงเทพมหานคร จากต่างประเทศ จากประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีการเดินทางไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัดเบียดเสียดตาม ข้อ 1.1 (1) และบุคคลที่เป็นผู้ที่อยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ปวยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไปร่วมอยู่ในสถานที่ที่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปปรากฏตัวตามข้อ 1.1 (2) ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน รวมทั้งงดกิจกรรมนอกบ้าน และงดการไปในที่ชุมชน
4. ในกรณีของชุมชนในเขตเทศบาลที่ไม่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้นายอำเภอแจ้งและประสานงาน กับเทศบาลให้แจ้งประธานกรรมการชุมชน และคณะกรรมการชุมชน ดำเนินการตามข้อ 1-3 เช่นเดียวกัน
5. ในกรณีที่หมู่บ้าน/ชุมชนใด ปรากฏว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของประธานกรรมการโรคต่อต่อจังหวัดได้พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 35 แห่ง พระราชบัญญัติโรคติดต่อแห่งชาติ พ.ศ.2558 ในการปิดการเข้า- ออกหมู่บ้าน/ชุมชนนั้น ไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไปยังสถานที่ต่างๆ หรือดำเนินการอื่นใด ให้รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบทุกครั้ง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563 เวลา 23.06 น.