ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมบทความการศึกษา  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

การศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งสู่อนาคต (Basic Education for Future) : ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย


บทความการศึกษา 15 มี.ค. 2563 เวลา 08:58 น. เปิดอ่าน : 48,181 ครั้ง
Advertisement

การศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งสู่อนาคต (Basic Education for Future) : ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย

Advertisement

การศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งสู่อนาคต (Basic Education for Future)
 
“การยอมรับความจริง อาจจะเป็นเรื่องไม่ถูกใจในบางครั้ง 
แต่ก็เป็นพื้นฐานของการริเริ่มความเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นและพัฒนาต่อไปได้”
 
การที่งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการเริ่มลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา น่าจะเดินมาได้ถูกทิศทางที่งบประมาณแปรผันตามสัดส่วนประชากร ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลโครงสร้างประชากรของสภาพัฒน์ฯ ที่ประมาณการว่า ประชากรอายุระหว่าง 0-15 ปี ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 13 ล้านคนในปี 2553 เหลือเพียง 11 ล้านคนในปัจจุบันปี 2563 และจะลดต่อเนื่องไปจนเหลือ 8 ล้านคนในปี 2583 (หรืออีก 20 ปีข้างหน้า)

งบด้านการศึกษา อันเป็นการลงทุนให้กับอนาคตของประเทศ มีมูลค่าสูงที่สุด และห่างไกลเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านอื่น ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็เป็นการลงทุนด้านสุขภาพให้กับคนไทยเช่นกัน ทั้งนี้ งบกระทรวงการศึกษามีแนวโน้มมีมูลค่าเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศต่อไปอีกนานพอสมควร ถึงแม้จะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไป ดังภาพด้านล่างแจกแจงข้อมูลสำนักงบประมาณ ปี 2548-2562

ขณะที่อนาคตจะมีประชากรวัยเด็กและเยาวชนและวัยทำงานลดลง ทั้งจำนวนและสัดส่วน ในอีกด้านหนึ่ง คือ สัดส่วนผู้สูงอายุ 65+ จะเพิ่มขึ้น โดยอีก 10 ปีข้างหน้าในปี 2573 จะมีจำนวน 1 ใน 5 ของประชากร (19%) และเพิ่มต่อเนื่องถึง 1 ใน 4 ของประชากร (25%) ของปี 2583 ซึ่งหมายความว่า วัยทำงานจะต้องมีความสามารถอยู่ในตลาดแรงงานที่เชื่อมโยงกันกับเศรษฐกิจทั่วโลกในระดับที่สามารถดูแลคนชรา(รวมถึงเด็กและเยาวชน)ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า โดยประเทศไทยในอนาคตจะต้องดิ้นรนให้ไม่ตกอยู่ในสภาพที่ครอบครัวจำนวนมากหลายล้านครัวเรือน ต้องดำรงชีพอยู่อย่างยากลำบาก ไม่มีเงินและสินทรัพย์ไปลงทุนด้านการศึกษาหรือลงทุนทำธุรกิจ เพราะต้องแบกรับภาระดูแลสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ในขณะที่ตนเองไม่มีทักษะที่จะสามารถหางานที่มีคุณภาพทำได้ เพราะต้องแข่งกับทั้งแรงงานในตลาดโลก และแข่งกับหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งน่าจะมีราคาถูกกว่าจ้างแรงงานคนภายในระยะเวลาไม่นานนัก เช่น อาจจะภายในทศวรรษ (2030) หรือ ทศวรรษถัดไป (2040)
 
ถึงแม้ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยสามารถรักษาอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ก็ไม่สามารถที่จะฉุดให้ประเทศขึ้นไปได้ถึงประเทศกลุ่มรายได้ระดับสูง (High-income) ดังรูปด้านล่างที่คำนวณอัตราการเพิ่มของ GDP ในอัตราเฉลี่ย 3.5% ต่อปี แต่ประเทศไทยก็ไม่สามารถที่จะมีพลังพอขึ้นไปถึงกลุ่มรายได้สูงตรงระดับเส้นสีแดงที่ระดับ GDP ต่อหัว (per capita) อยู่ที่ 20,000 USD ดังนั้น ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะ “แก่ก่อนรวย” นั่นคือ ประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนตามเกณฑ์ “สังคมชราภาพ” แต่ยังคงติดอยู่กับสภาพ “กับดักรายได้ปานกลาง” หรือ middle-income trap ที่ประเทศไม่สามารถจะหลุดขึ้นไปได้ เหมือนอย่างมาเลเซียหรือเวียดนามที่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และน่าจะสามารถยกระดับให้เป็นกลุ่มประเทศรายได้สูงได้สำเร็จค่อนข้างแน่นอน ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มแสดงอาการอ่อนแอทางเศรษฐกิจแล้ว ดังข่าวไม่กี่วันนี้รายงานสัดส่วนและจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยหลายเหตุผลภายในภายนอก รวมทั้งการที่จำนวนประชากรและกำลังแรงงานเริ่มลดลงแต่มีสัดส่วนและจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น
 
Source: Adapted from Sudharsanan, N. and Bloom, D.E., 2018, June. The demography of aging in low-and middle-income countries: chronological versus functional perspectives. In Future directions for the demography of aging: proceedings of a workshop ซึ่งภาพต้นฉบับแสดงประเทศระดับรายได้ปานกลาง (เส้นสีเขียว) จะสามารถเติบโตขึ้นไปได้ถึงระดับรายได้สูง ก่อนที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม กรณีประเทศไทย (สามเหลี่ยมสีฟ้า) มีความแตกต่างจากประเทศระดับรายได้ปานกลางด้วยกัน เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่สังคมชราภาพเร็วที่สุดในโลก โดยจะมีสัดส่วนของผู้ที่อายุ 65+ คิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมดในปี ค.ศ.2040 (พ.ศ. 2583) 
 
สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออนาคตของประเทศที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ ผู้เขียนรู้สึกประทับใจ เคารพยกย่อง และเห็นอกเห็นใจคุณครูที่มีความเป็นครูด้วยความรักความศรัทธาและความหวังที่มีต่อเด็กนักเรียนของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโรงเรียนที่มีทรัพยากรที่จำกัด และขาดแคลนครู ดังที่จะหาอ่านได้บนอินเตอร์เน็ตที่มีเรื่องราวมากมายของคุณครูที่ทุ่มเทเสียสละด้วยอุดมการณ์ ด้วยความฝันถึงอนาคตของเด็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ซึ่งหลายท่านก็เรียกร้องขอให้ส่งครูมาที่โรงเรียน เพื่อเด็กนักเรียนจะได้มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น
 
แต่ความเป็นจริงที่ต้องเผชิญ คือ ผลการคำนวณ teacher demand model จากข้อมูลจำนวนนักเรียนและชั้นเรียนรายโรงเรียนที่สังกัด สพฐ. โดยกำหนดให้มีคุณครูสอนครบทุกชั้นและทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ และยืดหยุ่นให้ระดับประถมสอนควบวิชาใกล้เคียงกันได้ พบว่า หากต้องการมีครูครบชั้นและครบทุกวิชาของ รร. สพฐ. ทั่วประเทศ จะต้องจ้างครูเพิ่มอีก 1 แสนกว่าคน แน่นอนว่า ปํญหาขาดแคลนครูกระจุกอยู่ที่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีมากกว่า 15,000 โรงเรียนทั่วประเทศ มีนักเรียนร่วม 1 ล้านคน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นโรงเรียนระดับประถมและอนุบาล
 
คงไม่มีครูอาจารย์หรือนักการศึกษาท่านใดคิดคำนวณว่า ประเทศไทยจะสามารถมีงบประมาณมาสร้างและจ้างครูเพิ่มอีก 1 แสนกว่าคนได้อย่างไร ในขณะเดียวกัน โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเสียงคุณครูเรียกร้องให้มาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครู หากทดลองใช้ Google Map สำรวจดูจะพบว่า มีโรงเรียนอยู่ใกล้เคียงภายในระยะ 10-20 กม. เกือบทั้งนั้น (แต่แน่นอนว่า มีโรงเรียนบางส่วนอยู่ห่างไกล และต้องได้รับความช่วยเหลือ ดังที่มีรายละเอียดปรากฏอยู่ในรายงานวิจัยเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กของหลายหน่วยงานและสถาบันในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา) ส่วนใครจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในแต่ละท้องถิ่นได้ เหมือนอย่างแก่งจันทร์โมเดล จ.เลย หรือโมเดลอื่น ๆ ที่ช่วยเหลือกันเป็นเครือข่าย ก็เป็นบุญวาสนาหรือชะตากรรมของอนาคตเด็กในแต่ละพื้นที่ เมื่อใดจึงจะหลุดพ้นจากพันธนาการโดยกลุ่มผลประโยชน์ที่เหนี่ยวรั้งการก้าวไปข้างหน้าได้
 
ข้อสรุปหลัก คือ ปัญหาคุณภาพและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีรากฐานมาจากการที่มีครูไม่ครบชั้นไม่ครบวิชา ซึ่งเราไม่สามารถจะเพิ่มคุณครูให้ครบทุกโรงเรียนทั่วประเทศได้ ในทางกลับกัน แนวโน้มระบบข้าราชการไทยในอนาคต คือ (ดูในบทความ ‘ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย’ ปี 2558 โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ) จะมีข้าราชการจำนวนมากที่จะเกษียณอายุ และ “การเข้มงวดกับจำนวนคนและคุณภาพของคนที่มาทดแทนและ “การรีด” ประสิทธิภาพของคนในภาครัฐทั้งหมดดูจะเป็นคำตอบ” ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่า วิธีที่จะแก้ไขบรรเทาปัญหาได้ ก็คือ การจัดสรรทรัพยากรการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อคุณภาพการศึกษา ซึ่งการจัดเครือข่ายโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง จะสามารถทำได้เป็นจำนวนมากเกือบทุกโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ และจะสามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้ 
 
ซึ่งก็ขอส่งใจให้แต่ละพื้นที่สามารถทำได้สำเร็จ เพื่ออนาคตของเด็ก ๆ นับล้านคน 
 
“หากไม่มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ รวมถึงทักษะทางสังคมและความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เด็กนักเรียนในวันนี้ จะเผชิญกับอนาคตที่มีความเสี่ยงว่าจะไม่สามารถหางานที่มีความมั่นคงและมีผลตอบแทนลำบากต่อการดำรงชีพ อันเป็นผลมาจากการใช้หุ่นยนต์และการย้ายฐานการผลิต”
 
น่าจะเป็นที่รับรู้และเข้าใจกันโดยกว้างขวางว่า ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ที่มีต่อแรงงานไทย เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต ซึ่งผลการวิจัยเรื่อง ‘Labour Skills, Economic Returns, and Automatability in Thailand’ ตีพิมพ์ในวารสาร Southeast Asian Journal of Economics โดยใช้ข้อมูลสำรวจการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ ความเสี่ยงต่อการแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (automatable risk) พบว่า อาชีพที่ต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ จะสามารถสร้างรายได้มาก นั่นคือ GDP ต่อหัวของจังหวัด และ รายได้ต่อชั่วโมงทำงาน มีมูลค่าสูงกว่า ในทางกลับกัน อาชีพที่ไม่ค่อยต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์และทักษะการสื่อสาร จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกแทนที่ (replace) ด้วยปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และหลายอาชีพในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือแม้แต่ภาคเกษตรกรรม ก็อาจจะสูญเสียตำแหน่งงานไปได้ เมื่อต้นทุนของการใช้เทคโนโลยีลดลง จนถูกกว่าการจ้างแรงงานคน
 
ดังนั้น ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาการศึกษาให้เด็กไทยได้มีศักยภาพในการคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญที่เรียกว่า Mathematical Literacy ซึ่งมีนิยามใน PISA 2021 ว่า "an individual’s capacity to reason mathematically and to formulate, employ and interpret mathematics to solve problems in a variety of real-world contexts. It includes concepts, procedures, facts and tools to describe, explain and predict phenomena…" โดยเราต้องเร่งเป้าหมายทำให้ได้ในระดับแนวหน้า เช่น เด็กสิงคโปร์หรือฮ่องกง เป็นต้น
            
ทักษะในทางคิดวิเคราะห์ (Cognitive Analytical Skills) ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต มีลักษณะสำคัญ ได้แก่
·      การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเหตุผล
·      ความคิดสร้างสรรค์
·      การสรุปและสื่อสารข้อมูลให้ผู้อื่นเข้าใจ
 
ในขณะที่ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในระดับที่สื่อสารทำงานได้ ก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสามารถศึกษาหาความรู้ระดับสูง และเปิดโอกาสในการทำงาน แต่ความจริง คือ คนจำนวนมาก แม้จะได้เรียนในระบบการศึกษาพื้นฐานมาอย่างน้อย 12 ปี แต่ก็ไม่สามารถสนทนาหรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ ทั้งขาดความมั่นใจและความสามารถในการสื่อสาร ซึ่งเราไม่ควรจะส่งต่ออนาคตเช่นนี้ไปให้กับคนรุ่นข้างหน้า
 
“การที่คนไทยรุ่นถัดไปจะมีจำนวนลดลงเพราะสังคมสูงวัยและอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง เด็กทุกคนจะต้องได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่”
 
 
“การศึกษากับสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ทุกมิติโยงใยเชื่อมถึงกันหมด ไม่สามารถแยกจากกันได้ ผมเชื่อว่าการศึกษาทำให้สังคมก้าวหน้า พอเจอคนที่อุดมการณ์กล้าเปลี่ยนเหมือนกันก็ขยายการสื่อสารกับสังคม แต่มักเจอข้อคัดค้านว่า คุณมาบ่นทำไม มาเปลี่ยนทำไม ไม่พอใจก็ออกไปสิ ก่อนมาเป็นครูก็รู้อยู่แล้ว ถ้าทำไม่ได้ก็ไปทำงานอย่างอื่นสิ จริงๆ แล้วเราคิดว่าทุกคนบ่นเหมือนกัน แต่ไม่มีใครลุกขึ้นถาม มีแต่จำนน ก้มหน้า ทำไปบ่นไป ห้องพักครูไม่ใช่ห้องสำหรับเตรียมการสอน แต่กลายเป็นห้องให้ครูปรับทุกข์กัน” 
“ระบบรัฐทำให้ครูต้องจมกับกองเอกสาร สิ่งนี้ทำให้มองว่า ถ้าครูรุ่นใหม่ต้องทำงานกับระบบแบบนี้ มันมองไม่เห็นหนทางที่จะไปต่อได้ดีกว่านี้แล้ว เราอยากได้ระบบที่ดีขึ้น เห็นสังคมที่ดีขึ้น ที่สนับสนุนให้ครูทำงานเพื่อนักเรียน ไม่ใช่ระบบที่ให้ทำงานอย่างไรเพื่อตอบสนองต่อระบบ เราเติบโตมากับระบบการศึกษา ระบบสังคมที่ทำให้เราเจ็บปวด จึงไม่อยากส่งต่อสังคมแบบนี้ให้กับคนรุ่นต่อไป ให้กับนักเรียนของเรา
เสียงของคุณครูบางส่วนจาก เพจ “ครูขอสอน
 
เสียงสะท้อนจากคุณครูและผู้บริหารที่ปรารถนาความเปลี่ยนแปลง พร้อมกับการร่วมมือกันลงมือกระทำ จะสามารถเป็นความหวังและพลังของระบบการศึกษา เพื่อให้ประเทศไทยมีอนาคตที่ดีกว่า 
            
เพราะเรามีบทพิสูจน์จากทั่วประเทศแล้วว่า มีโรงเรียนไม่น้อยที่มีข้อจำกัดทางทรัพยากร แต่สามารถให้คุณภาพการศึกษาที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศได้ ด้วยความตั่งใจมุ่งมั่นทุ่มเทของผู้บริหารการศึกษาและคุณครู
 
ความท้าทายหลักของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย คือ เด็กจำนวนไม่น้อยที่เรียนด้วยความขาดแคลน ทั้งจำนวนครู เวลาที่ครูให้กับห้องเรียน และคุณภาพการศึกษา ทำให้ไม่สามารถจะพัฒนาศักยภาพมนุษย์ได้เต็มความสามารถ จึงกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางทางเลือกของเด็กในการศึกษาต่อระดับสูง เพราะขาดทักษะการอ่านออกเขียนได้ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และกลายเป็นความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานในที่สุด

เหมือนดังเรื่องราวของเด็กหญิงสองคนที่เกิดในพื้นที่แตกต่างกัน ทำให้เรียนผ่านคุณภาพการศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำ จึงมีอนาคตต่างกันลิบลับ ดังปรากฏในสื่อโสตทัศน์ด้านล่าง


youtu.be/YomNu_kjtfU

ซึ่งในที่สุดแล้วเราก็ควรที่จะสามารถมีอนาคตให้เด็กที่มาจากภูมิหลังแตกต่างกัน แต่สามารถมีโอกาสที่ดีเหมือนกันได้ ด้วยคุณภาพการศึกษาที่ในเวลานี้มีเพียงคุณครูและผู้บริหารแต่ละท่านในโรงเรียนแห่งหนตำบลนั้นที่จะสามารถสร้างความก้าวหน้าได้จนสำเร็จ ยิ่งเป็นเครือข่ายยิ่งมีพลังมาก โดยเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคุณภาพการศึกษา ตามความเหมาะสมของแต่ละบริบทพื้นที่ เพื่อทำให้เด็กได้พัฒนาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์เหตุผล และการสื่อสารภาษาอังกฤษ
 
โลกปัจจุบันเปิดโอกาสให้เข้าถึงการเรียนรู้ที่ไม่มีขีดจำกัดอีกต่อไป โครงการเรียนด้วยตนเองทางออนไลน์ของเว็บไซต์ Coursera เช่น วิชา Machine Learning ของ Andrew Ng ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนเรียนกว่า 3 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา, เว็บ code.org ที่มีสื่อเรียนรู้รวมทั้งเกมสอนเด็กเล่นและคิดแบบการเขียนโปรแกรม, และโครงการ Train the Trainer ของMicrosoft (Thailand) ที่ฝึกอบรมพัฒนานักเรียนนักศึกษา (ดูข่าว ‘ไมโครซอฟท์จับมือดีป้า ตั้งเป้าเสริมทักษะการเขียนโปรแกรมให้แก่เยาวชน 50,000 คน ในเขตพื้นที่ EEC โดยนำครู 500 คนเข้าสู่โครงการ’) รวมถึงนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) และคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ของ สพฐ. เป็นต้น ล้วนสามารถสร้างโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในการเปิดศักยภาพให้กับเด็กไทย เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล และการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ซึ่งผลงานวิจัยของ OECD ระบุว่า สัมพันธ์กับประสบการณ์เรียนรู้ช่วงปฐมวัย แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีครูที่มีความสามารถและหัวใจสามารถชี้แนะแนวทางและพัฒนาศักยภาพของเด็กนักเรียน โดยคนที่เก่งก็ขอให้ส่งเสริม คนที่อ่อนก็ขอให้ช่วยดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ
 
ครูรุ่นใหม่เป็นคนเก่งมีความรู้ความสามารถ ด้วยนโยบายของ สพฐ. ที่ดึงดูดคนเก่งเข้ามาเป็นครู ด้วยเงินเดือนที่ไม่ได้น้อยกว่าอาชีพอื่น ตามข้อมูลสำรวจการทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดังนั้น ผู้เขียนจึงเชื่อมั่นว่า เมื่อรวมกับความตั้งใจความมุ่งมั่นและความฝันที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างคนเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่ตนเองมีชีวิตเป็นครูอยู่ คุณครูแต่ละท่านจะสามารถเป็นตัวอย่างด้านการศึกษาที่ดีให้กับเด็กนักเรียนได้ ด้วยประสบการณ์ชีวิตและตัวอย่างอันเป็นเลิศของความเพียรพยายาม
 
ด้วยแรงบันดาลใจว่า เด็กจะสามารถมีอนาคตที่ดีได้ ด้วยความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และการใช้ภาษาอังกฤษ จึงสามารถเกิดขึ้นเป็นจริงได้ โดยผู้บริหารและคุณครู เพื่อสร้างรากฐานการศึกษาที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงภายภาคหน้า สำหรับเด็กนักเรียนและประเทศไทยในยุคสมัยต่อไป
 
ผู้เขียนขออุทิศบทความนี้ให้เด็กไทยที่มาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ
ด้วยจิตคารวะต่อผู้กล้าหาญทุกช่วงวัยที่มีการศึกษาเพื่ออนาคตลูกหลานรุ่นต่อไป เป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในชีวิต
 
ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
(เหตุผลและข้อคิดเห็นส่วนบุคคล)

🖼สำหรับคุณครูไว้ใส่เกียรติบัตรสวยและถูก🖼 กรอบป้ายอะคริลิคตั้งโต๊ะ A4 แนวนอน 30x21.5 cm อะคริลิคใส 1 หน้า ทรง L (A4L1P) ในราคา ฿129 คลิกเลย👇👇

https://s.shopee.co.th/1qLFIZVf4t?share_channel_code=6


การศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งสู่อนาคต (Basic Education for Future) : ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัยการศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งสู่อนาคต(BasicEducationforFuture):ทีปกรจิร์ฐิติกุลชัย

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

ความคิดสร้างสรรค์ (จบ)

ความคิดสร้างสรรค์ (จบ)


เปิดอ่าน 7,702 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

"หนี้ครู" ปัญหาอมตะคู่แม่พิมพ์ของชาติ

"หนี้ครู" ปัญหาอมตะคู่แม่พิมพ์ของชาติ

เปิดอ่าน 11,677 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
คอลัมน์: การศึกษา: ถึงคิว...พักงาน(ยาว) "ผอ.สมศ." ปลดล็อก..."ประเมินภายนอกรอบ 4"!!
คอลัมน์: การศึกษา: ถึงคิว...พักงาน(ยาว) "ผอ.สมศ." ปลดล็อก..."ประเมินภายนอกรอบ 4"!!
เปิดอ่าน 30,053 ☕ คลิกอ่านเลย

ความคิดสร้างสรรค์ (1)
ความคิดสร้างสรรค์ (1)
เปิดอ่าน 8,734 ☕ คลิกอ่านเลย

กุญแจไขโจทย์คุณภาพการศึกษาไทย
กุญแจไขโจทย์คุณภาพการศึกษาไทย
เปิดอ่าน 9,694 ☕ คลิกอ่านเลย

ปฏิรูปการศึกษา เรียนรู้จากผู้ประสบผลสำเร็จ : "เกาหลีใต้"
ปฏิรูปการศึกษา เรียนรู้จากผู้ประสบผลสำเร็จ : "เกาหลีใต้"
เปิดอ่าน 21,197 ☕ คลิกอ่านเลย

ถอดความสำเร็จโครงการ Chevron Enjoy Science  ที่ต่อเติมพื้นที่ให้สะเต็มศึกษาเป็นเรื่องสนุก พร้อมปูทางสู่อนาคตประเทศ
ถอดความสำเร็จโครงการ Chevron Enjoy Science ที่ต่อเติมพื้นที่ให้สะเต็มศึกษาเป็นเรื่องสนุก พร้อมปูทางสู่อนาคตประเทศ
เปิดอ่าน 932 ☕ คลิกอ่านเลย

การสอนภาษาอังกฤษ ในสพฐ. จุดอ่อนที่ควรคำนึง
การสอนภาษาอังกฤษ ในสพฐ. จุดอ่อนที่ควรคำนึง
เปิดอ่าน 16,221 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ยาธาตุ(กลิ่นซินนามอน) แก้ท้องอืด ปรุงเองได้...ง่ายนิดเดียว
ยาธาตุ(กลิ่นซินนามอน) แก้ท้องอืด ปรุงเองได้...ง่ายนิดเดียว
เปิดอ่าน 16,803 ครั้ง

"ดอกอัญชัน" สมุนไพรบำรุงสายตา ดูแลเส้นผมให้เงางาม
"ดอกอัญชัน" สมุนไพรบำรุงสายตา ดูแลเส้นผมให้เงางาม
เปิดอ่าน 18,926 ครั้ง

คู่มือพัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์และการประชุมปฏิบัติการเสริมสร้างสมรรถนะครูผู้ช่วย สู่การเป็นครูมืออาชีพ
คู่มือพัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์และการประชุมปฏิบัติการเสริมสร้างสมรรถนะครูผู้ช่วย สู่การเป็นครูมืออาชีพ
เปิดอ่าน 12,359 ครั้ง

วิทยาศาสตร์น่าทึ่ง ทำเองได้ที่บ้าน
วิทยาศาสตร์น่าทึ่ง ทำเองได้ที่บ้าน
เปิดอ่าน 13,433 ครั้ง

กรุงเทพฯ กับ บางกอก
กรุงเทพฯ กับ บางกอก
เปิดอ่าน 13,475 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ